หน้าแรก สรุปสาระสำคัญ งานสัมมนา “ชีวิตในโลกยุคใหม่ และการอยู่ร่วมกับ AI อย่างรู้เท่าทัน”
สรุปสาระสำคัญ งานสัมมนา “ชีวิตในโลกยุคใหม่ และการอยู่ร่วมกับ AI อย่างรู้เท่าทัน”
29 เม.ย. 2565
0
ข่าว
บทความ

งานสัมมนา “ชีวิตในโลกยุคใหม่ และการอยู่ร่วมกับ AI อย่างรู้เท่าทัน”

 

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมหาศาล และกำลังแทรกซึมเข้ามาอยู่ล้อมรอบตัวเราทุกคน และในอนาคต AI จะถือเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเครื่องมือสำหรับการแข่งขันกันระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่ ซึ่งอยู่ท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึง สงครามจริง ๆ ที่มีการรบกันโดยเครื่องมือที่ใช้ AI ด้วย เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย การที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่จุดที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้าน AI เท่าเทียมกับต่างประเทศนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลากหลายภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การเริ่มสร้างความตระหนักรู้ด้าน AI และจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ให้กับสังคมไทย เพื่อให้คนไทยรู้เท่าทัน AI และได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค AI โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย (ORI) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จึงได้จัดงานสัมมนา “ชีวิตในโลกยุคใหม่ และการอยู่ร่วมกับ AI อย่างรู้เท่าทัน” ขึ้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ทราบถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ของไทยในปัจจุบัน และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในอนาคต

 

เทคโนโลยี AI ในภาคธุรกิจ ที่มองเห็น “ข้อมูล” เป็นทรัพยากรมูลค่ามหาศาล
คุณจรีพร จารุกรสกุล
คุณจรีพร จารุกรสกุล

คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหญ่” เนื่องจากเทคโนโลยี AI เริ่มมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา ดังนั้น AI จึงไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป แต่ AI เป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถนำมาใช้ในธุรกิจของเราได้ เราจึงจำเป็นต้องรู้จักกับ AI ก่อน เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร ซึ่ง AI จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ต้องมีข้อมูลปริมาณมหาศาล, ผู้ประกอบการต้องแข็งแกร่ง, ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ต้องมีจำนวนมากเพียงพอ และสิ่งที่สำคัญคือต้องมีกฎระเบียบภาครัฐ

เป็นเรื่องน่ากังวล เมื่อข้อมูลของคนไทยตกไปอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ

“Data is the new oil” เมื่อข้อมูลเปรียบเสมือน “น้ำมัน” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่ามหาศาล บริษัทระดับโลกต่าง ๆ ที่มีการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล เช่น Google, Amazon และบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ของประเทศจีน จึงมีการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กันอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น ด้าน E-commerce มีการนำข้อมูลทั้งหมดไปใช้ในการวิเคราะห์ถึงปริมาณการสั่งซื้อ ข้อมูลการใช้เงิน นิสัยผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งหากข้อมูลของคนไทยตกไปอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ ก็จะทำให้บริษัทต่างชาติรู้ถึงความชอบของคนไทย สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ควรผลิตสินค้าใดออกมาแข่งขันกับบริษัทคนไทย และจะลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก

ดังนั้น นอกจากการเป็นเพียงผู้ใช้งานที่นำ AI มาใช้ประโยชน์ในธุรกิจต่าง ๆ แล้ว เมื่อมองในภาพใหญ่ระดับประเทศ เราควรคำนึงถึงแนวทางการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้าน AI ด้วย โดยการสร้างและเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นของตนเอง ไม่ปล่อยให้ข้อมูลของคนไทยตกไปอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ หรือประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐควรกำหนดแนวทาง/นโยบายด้านปัญญาประดิษฐ์ให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ เพื่อนำไปสู่การสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นของประเทศไทยเอง และลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลคนไทยไปยังต่างชาติ

 

เทคโนโลยี AI คือ เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ โดยมีการเชื่อมโยงของข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ
คุณประจักษ์ บุญยัง
คุณประจักษ์ บุญยัง

คุณประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้อธิบายถึงลักษณะของข้อมูลภาครัฐในภาพรวม ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีปริมาณมาก มีรูปแบบและที่มาของข้อมูลที่หลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รวมถึง ไม่ได้จัดให้อยู่ในรูปของดิจิทัลที่สามารถนำ AI หรือโปรแกรมต่าง ๆ มาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่สามารถดึงข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในเชิงวิเคราะห์ หรือเป็นประโยชน์ในการแข่งขันในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการภายในหน่วยงาน จึงมีการประกาศนโยบายภาครัฐที่เน้นความสำคัญในเรื่องการนำเทคโนโลยี AI และ Big data มาใช้ในการขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐในมิติต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้

 

การปรับปรุงและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงาน เพื่อให้สอดรับกับยุค AI และ Big Data

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการปรับปรุงและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงาน เพื่อให้สอดรับกับยุค AI และ Big Data อีกทั้ง ยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้นำ AI มาใช้ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีภารกิจในการตรวจสอบบัญชี และรายงานการเงินของหน่วยงานภาครัฐ 8,368 หน่วยงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่สำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตรวจสอบหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้ได้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาครัฐ และลดการใช้ทรัพยากรอีกด้วย จึงเกิดเป็นโครงการนำร่อง “การพัฒนาต้นแบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการตรวจสอบการดำเนินงาน (AI for Performance Audit)” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) โดยในปัจจุบันได้นำระบบดังกล่าวมาใช้งาน และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มรูปแบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังมีความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ในการนำฐานข้อมูลจากกรมบัญชีกลางมาจัดทำเป็นระบบ ACT Ai เพื่อใช้ในการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit) โดยเป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นงบประมาณสำคัญที่นำไปสู่การคอร์รัปชันได้

 

จริยธรรมใน AI และความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน

ในการนำ AI ไปใช้ในการทำงานและการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนั้น หลักจริยธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบให้ AI เรียนรู้ ก็จะต้องดำเนินการอย่างมีจริยธรรม เพื่อให้ AI เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง และสามารถประมวลผล/ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ มักถูกจัดทำขึ้นมาด้วยวิสัยทัศน์และทิศทางการทำงานที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน จึงทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงยังเป็นปัญหาสำคัญอย่างมากกับการออกแบบระบบในการทำ AI for Performance audit ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในปัจจุบัน ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญและส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐ ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบัน ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งช่วยทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้แล้ว แต่การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐในทางปฏิบัติ อาจต้องอาศัยหน่วยงานนำร่องต่าง ๆ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์

จริยธรรมใน AI และความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน

 

ประเทศไทยมีความพร้อมด้านข้อมูล แต่ยังขาดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์?
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวถึงสถานภาพด้านเทคโนโลยี AI ของประเทศไทย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงความพร้อมด้าน AI ของภาครัฐแล้ว ประเทศไทยมีความพร้อมด้านข้อมูลมากที่สุด เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนมีการเตรียมข้อมูลที่เป็นดิจิทัลจำนวนมากเรียบร้อยแล้ว แต่ยังขาดการนำข้อมูลต่าง ๆ ไปพัฒนาและใช้ประโยชน์ จึงทำให้ประเทศไทยมีดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (Government AI Readiness Index) อยู่ในอันดับปานกลาง ทั้งนี้ เมื่อเราพิจารณาสถานภาพด้านเทคโนโลยี AI ของประเทศไทยในด้านวิชาการจะพบว่า ประเทศไทยมีการตีพิมพ์บทความวิชาการด้าน AI เพิ่มมากขึ้นในลักษณะที่เป็น Exponential เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ ในขณะที่เมื่อพิจารณาด้านการลงทุน ประเทศไทยก็มีการลงทุนธุรกิจด้าน AI อย่างก้าวกระโดดในระหว่างปี 2016-2017 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้มีการชะลอการลงทุนในระหว่างปี 2018-2020 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา เราเริ่มเห็นแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนธุรกิจด้าน AI ที่มีสูงมากขึ้น

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการพัฒนา AI สัญชาติไทย และมีการนำไปทดลองใช้งานกันอย่างต่อเนื่อง โดยฉพาะในส่วนต้นน้ำ ซึ่งเป็นการพัฒนา Core Technology หรือ Service Platform และการพัฒนาบุคลากร เช่น “AI for Thai” Service Platform ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์ NECTEC โดยเป็น Core Technology ด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing) และ “CiRA Core” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัทที่ Spin-off มาจากบุคลากรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเป็นระบบ AI ที่เน้นเรื่อง Smart Industry ในขณะเดียวกัน ในส่วนกลางน้ำ ก็มีกลุ่มสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยี Digital Service และ Supporting Service ขึ้นมา เช่น การใช้โดรนในภาคการเกษตร, การวิเคราะห์ภาพในทางการแพทย์ และการปรับปรุงกระบวนการทำงานต่าง ๆ ขององค์กรให้เป็นอัตโนมัติและมีความชาญฉลาดมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยี Automation เป็นต้น

 

ทิศทางเทคโนโลยี AI ของประเทศไทยในอนาคต ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิต และการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม

Thailand National AI Strategy 2022-2027

ในปัจจุบันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สวทช. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำลังนำเสนอแผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ.2564-2570) เข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยแผนแม่บทดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิต และการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม รวมถึง การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การตั้งกฎระเบียบ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคน การพัฒนาเทคโนโลยี และการนำเทคโนโลยีไปใช้งานในภาคธุรกิจ ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ร่วมกับภาคธุรกิจอย่างลึกซึ้ง โดยในระยะแรกจะให้ความสำคัญกับการนำ AI ไปใช้ในด้านสุขภาวะและการแพทย์ (Telehealth) ด้านอาหารและการเกษตร (Digital Farming) และด้านการบริการภาครัฐ (เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับประชากร) ทั้งนี้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี AI ของประเทศไทยในอนาคต จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาบุคลากรด้าน AI การแบ่งปันคลังข้อมูล การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึง การมี Core Technology และ Service Platform เพื่อใช้สนับสนุนภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เพราะเทคโนโลยี AI เป็นเหรียญสองด้าน เราจึงต้องมี “AI Governance”

เทคโนโลยีทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีสองด้าน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ในสถานการณ์ต่าง ๆ นั้น มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้งานอย่างไร สำหรับเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัล, Machine Learning, Internet of Things (IoT) หรือ AI ส่วนใหญ่ก็กำเนิดมาจากการทหารและการทำสงครามทั้งสิ้น โดยในช่วงสงครามจะเป็นช่วงที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้จริง นำออกมาทดลองในช่วงสงคราม ดังนั้น เทคโนโลยี AI จึงมีลักษณะเป็นเหรียญสองด้าน แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราจะต้องหาวิธีควบคุม AI และทำให้เกิดการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม หรือเรียกว่ามี “AI Governance” ซึ่งในงานวิจัยปัจจุบัน ก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก
เพราะเทคโนโลยี AI เป็นเหรียญสองด้าน เราจึงต้องมี “AI Governance”

เพราะเทคโนโลยี AI เป็นเหรียญสองด้าน เราจึงต้องมี “AI Governance”

 

บทสรุปส่งท้าย
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. และประธานคณะกรรมการจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ของ สวทช. ได้กล่าวโดยสรุปว่า ความสามารถและการพัฒนาด้าน AI ของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีทั้งส่วนที่จะต้องทำให้เข้มแข็ง ตัวอย่างเช่น เรื่องข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อนำส่งให้ภาคเอกชนได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และส่วนที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ คือ เรื่องการไหลของข้อมูลคนไทยไปยังบริษัทต่างชาติ ตัวอย่างเช่น การใช้แผนที่บน Google map ที่เปรียบเสมือนเป็นการป้อนข้อมูลของคนไทยให้กับบริษัท Google ซึ่งน่าเสียดายข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงควรสนับสนุนคนไทย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในการพัฒนาแพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลของคนไทยไปอยู่ในมือของต่างชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ควรมีการสนับสนุนภาคธุรกิจที่มีความเข้มแข็งด้าน AI ให้เป็นตัวแทนของประเทศ รวมถึง ยกระดับธุรกิจ SME ให้เข้าสู่ Digital Transformation ด้วย ในขณะเดียวกัน สวทช. ก็เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นคนกลาง ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน โดยการถ่ายทอดและนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในภาคเอกชน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยต่อไปอีกด้วย

แชร์หน้านี้: