หน้าแรก การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 ‘NAC2023’ โชว์ขุมพลังวิจัย ‘ขับเคลื่อน BCG สู่ความยั่งยืน’ เริ่มแล้ว 28-31 มี.ค. ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ปทุมธานี
การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 ‘NAC2023’ โชว์ขุมพลังวิจัย ‘ขับเคลื่อน BCG สู่ความยั่งยืน’ เริ่มแล้ว 28-31 มี.ค. ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ปทุมธานี
28 มี.ค. 2566
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(28 มีนาคม 2566) ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2566 (NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” (NSTDA: STI powerhouse to drive BCG economy for Thailand’s sustainable development) ระหว่างวันที่ 28 -31 มีนาคม 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายไชยรัตน์ บุตรเทพ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี พลตรีปัญญา ตั้งความเพียร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 พล.ต.ต.ชุมพล ชาญชนะโยธิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานกระทรวง อว. และ สวทช. ร่วมรับเสด็จฯ

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานว่า การประชุมประจำปี สวทช. ในปีนี้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศขับเคลื่อนประเทศตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่ง สวทช. จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 โดยปีนี้จัดแบบออนไซต์เต็มรูปแบบ ทั้งกิจกรรมสัมมนาวิชาการ นิทรรศการ กิจกรรมเยี่ยมชม กิจกรรมนำเสนอเชิงธุรกิจ และกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยตั้งเป้าให้เป็นเวทีในการนำเสนอผลงานของบุคลากรวิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้จากเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ซึ่งการประชุมฯ ครั้งนี้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 การขับเคลื่อน และ 4 การส่งเสริม

สำหรับ 4 การขับเคลื่อน ประกอบด้วย การพัฒนาตามสาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.เกษตรอาหาร 2. สุขภาพการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และ 4.ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า และการเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ ส่วน 4 การส่งเสริม ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 2.การยกระดับความสามารถของกำลังคน 3.การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ และ 4.การปรับกฎหมาย กฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนา BCG Economy model ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในงาน ได้แก่ การจัดสัมมนาวิชาการและกิจกรรมสำหรับเยาวชน 53 หัวข้อ และการจัดแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ 72 ผลงานใน 6 โซน เพื่อสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กราบบังคมทูลเบิกคณะผู้ชนะเลิศการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 25 ผู้ชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 และผู้ชนะเลิศการแข่งขัน RoboInnovator Challenge 2022 จำนวนรวมทั้งสิ้น 13 ราย เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร

จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2566 และทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยและนิทรรศการความก้าวหน้าทางงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 6 โซนได้แก่

1.นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ อาทิ โครงการฝึกทักษะถอดความเสียงพูดเพื่อจัดทำคำบรรยายแทนเสียงสำหรับผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ซึ่งมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขังตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับความรู้และทักษะเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างที่อยู่ในที่คุมขัง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อสร้างรายได้และคุณค่าต่อตนเอง และนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษได้

ในปี พ.ศ.2562 สวทช. ร่วมกับ มูลนิธิฯ และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงปทุมธานี ได้จัดทำ “โครงการการฝึกถอดความเสียงพูด เพื่อจัดทำคำบรรยายแทนเสียง” เพื่อพัฒนาทักษะด้านการพิมพ์สัมผัส และถอดความเสียงพูดแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งจะสามารถพัฒนาเป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่งหลังพ้นโทษได้ โดยในปี พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน สวทช. ดำเนินการจ้างผู้ต้องขังในการจัดทำคำบรรยายแทนเสียงสำหรับวิดีโอประกอบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของสื่อดิจิทัลที่เข้าถึงโดยสะดวกถ้วนหน้า บนแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ที่เข้าถึงโดยสะดวกถ้วนหน้าสำหรับนักเรียนพิการทุกประเภทที่ สวทช. พัฒนาขึ้นสำหรับนำไปใช้งานในโรงเรียนการศึกษาพิเศษของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และโรงเรียนเรียนร่วมทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ และเอกชน

โครงการภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science (National e-Science Infrastructure Consortium) เป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ High Performance Computer (HPC) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของประเทศ และสนับสนุนความร่วมมือด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงระหว่างประเทศไทยและเซิร์น เพื่อยกระดับงานวิจัยของประเทศไทยให้ทัดเทียมงานวิจัยระดับนานาชาติ

2.NSTDA core business แสดงผลงานความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมที่ สวทช. มุ่งขับเคลื่อนในยุค NSTDA 6.0 ซึ่งในปี พ.ศ.2566 สวทช. เปิดกลยุทธ์ นำพลังวิจัย รับใช้สังคม และได้คัดเลือกงานวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 4 เรื่องหลัก คือ 1.Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง 2.Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัล 3.FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) ในรูปแบบ One stop service และ 4.Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย

3.นิทรรศการ BCG Economy Model ทั้ง 4 สาขา เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ เช่น ด้านเกษตรและอาหาร เช่น นวัตกรรมสเปรย์เติมความ “สด” ให้พืช ซึ่งนักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาสเปรย์ทำความเย็นอัดแก๊สแรงดันสูงที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงธาตุอาหารเสริมและรอง ที่ช่วยลดอุณหภูมิภายในของพืช ลดการคายน้ำจากอากาศร้อน ช่วยให้พืชสดชื่น ไม่เหี่ยวเฉา ตอบความต้องการธุรกิจไม้ดอก ไม้ประดับ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไม้เมืองหนาวราคาสูงที่นำมาปลูกในประเทศไทย ด้านสุขภาพและการแพทย์ เช่น เทคโนโลยีชุด Exosuit ช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้สูงอายุ ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เช่น เทคโนโลยีแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสีเขียว และ ด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Sontana สนทนา (AI Chatbot) ซึ่งล้วนเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

4.นิทรรศการ วทน. ยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road) ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนแบบ Area based ในลักษณะกลุ่มสินค้าของ BCG สาขาเกษตร มีเป้าหมายเพื่อ ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ดำเนินการโดย สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำปาง อุดรธานี และนครพนม เพื่อผลักดันการใช้ BCG Economy Model ขับเคลื่อนชุมชนให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตข้าวด้วยเกษตรสมัยใหม่ ควบคู่กับการผลิตพืชหลังนาที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่

5.นิทรรศการระบบบริการ โดย สวทช. เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในขุมพลังหลักของ สวทช. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญ นำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด และ 6.ผลงานวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านการแสดงผลงานวิจัยโดยนักวิจัยไทย อาทิ ระบบให้แสงเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงอาหารโภชนาการสูงสำหรับสัตว์น้ำ ในระบบปิดและกึ่งปิด (SUN-ZOOM for Eco-Plankton Culture Plant) และระบบควบคุมการยกยอและบันทึกภาพถ่ายโดยอัตโนมัติ และระบบให้อาหารอัตโนมัติสำหรับการเลี้ยงกุ้ง เป็นต้น

สำหรับงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 จัดระหว่างวันที่ 28 – 31 มีนาคม 2566 นี้ จัดออนไซต์เต็มรูปแบบในทุกกิจกรรม ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ภายในงานประกอบด้วย การสัมมนาและกิจกรรมเยาวชน 53 หัวข้อ นิทรรศการผลงานวิจัยนวัตกรรมของนักวิจัย สวทช. และพันธมิตรกว่า 72 ผลงาน กิจกรรม Open house เยี่ยมชม 27 ห้องปฏิบัติการวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมกับเวที R&D Pitching 16 ผลงาน และ NAC Market 2023 ตลาดนัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากงานวิจัย สินค้าชุมชนในราคาพิเศษจากเครือข่าย สวทช.

ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nstda.or.th/nac และร่วมกิจกรรมภายในงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสอบถามโทร. 02564 8000

28 มี.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: