ฝุ่นละออง หรือคราบจากตะไคร่น้ำ ล้วนทำให้บ้านดูไม่งามตา ต้องออกแรงขัดกันบ่อย ดีปเทคสตาร์ทอัพ สวทช. อย่างบริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด เปิดตัวสเปรย์เคลือบกันฝุ่น-ตะไคร่น้ำ ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเคลือบนาโน (Nano Coating) นำร่องผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ขยายฐานลูกค้ากลุ่มครัวเรือน สร้างการรับรู้ในวงกว้าง พร้อมแย้มเตรียมขยายไลน์สินค้านวัตกรรมกลุ่ม B2C เพิ่ม 3-5 ชนิดในปี 67 เพื่อลองตลาด ด้านตัวหลักอย่างสารเคลือบเซลล์แสงอาทิตย์ยังเป็นตัวหลักสร้างรายได้ เตรียมลุยตลาดต่างประเทศ ตอกย้ำเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 ด้านสารเคลือบของอาเซียนใน 5 ปี
ดร. ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยทีมวิจัยนวัตรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. และ Managing Director บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาสำหรับการเป็นดีปเทคสตาร์ทอัพนั้น ประสบความสำเร็จและสามารถทำได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ ทั้งในเรื่องของรายได้ และการตอบรับของลูกค้าที่เชื่อมั่นเทคโนโลยีเคลือบนาโน ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของเรา
บรรยากาศการทำงานในห้องปฏิบัติการ |
“ช่วงตั้งไข่หรือ 1 ปีแรกของนาโน โค๊ตติ้ง เทคนั้น เรามุ่งเน้น B2B ที่เน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของเราเป็นสารเคลือบเซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ กลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นบริษัทที่มีเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ซึ่งก็สามารถสร้างการรับรู้ถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเราที่แตกต่างและโดดเด่นจากของที่มีอยู่แล้วในตลาด ทำให้เรามีลูกค้ารายใหญ่จากอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน” ดร. ธันยกรกล่าว
สำหรับปีที่ 2 นาโน โค๊ตติ้ง เทค จะเริ่มขยายตลาดสู่ B2C หรือกลุ่มผู้บริโภคที่เป็น End Users เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น จึงต่อยอดผลิตภัณฑ์สารเคลือบเซลล์แสงอาทิตย์ที่เดิมเป็นขนาดอุตสาหกรรม ออกมาเป็นสเปรย์เคลือบเซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุก่อสร้างแบบ 2อิน1 ที่สามารถลดการยึดเกาะของฝุ่นและตะไคร่น้ำ สำหรับลูกค้าครัวเรือนโดยเฉพาะ
สเปรย์เคลือบเซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุก่อสร้างแบบ 2อิน1 (2-IN-1 ANTI-Dust & Algae/Moss Attachment Prevention NANO Spray) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถใช้งานได้เลย กับพื้นผิวเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กในบ้าน วัสดุก่อสร้างที่เป็นพื้นไม้ คอนกรีต พลาสติก ยกเว้นกระจกใส ซึ่งจะช่วยลดการยึดเกาะของฝุ่นและตะไคร่น้ำต่างๆ ช่วยยืดเวลาทำความสะอาดอีกด้วย
ทดสอบสเปรย์เคลือบ | |
ประสิทธิภาพกันน้ำหลังเคลือบ | เปรียบเทียบประสิทธิภาพกันน้ำ |
ดร. พิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว หัวหน้าทีมวิจัยนวัตรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด กล่าวว่า สเปรย์เคลือบเซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุก่อสร้างแบบ 2อิน1 นั้น เป็นเพียง 1 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่บริษัทฯ นำร่องเปิดตลาดลูกค้าทั่วไป ตามแผนกลยุทธ์การดำเนินงานของปีที่ 2 ที่เราจะลงทุนรับถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ในกลุ่มสารเคลือบนาโนเข้ามาเพิ่ม โดยเริ่มจากงานวิจัยภายในนาโนเทคที่โดดเด่นและมีความเป็นไปได้ทางการตลาดก่อน อาทิ หน้ากากอนามัยที่มีผ่านการเคลือบพิเศษ สารเคลือบสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เป็นต้น
“ปีนี้ เราจะเห็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้น ทั้งที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีมา และนวัตกรรมที่บริษัทวิจัยและพัฒนาเอง โดยเราได้ทดลองตลาดสำหรับสเปรย์เคลือบเซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุก่อสร้างแบบ 2อิน1 ผ่านการออกบูทภายในงาน Asean Sustainable Energy Week 2023 ซึ่งผลตอบรับดี ลูกค้าให้ความสนใจ และมีแผนที่จะเข้าถึงคนหมู่มากผ่านการออกบูทในงานนิทรรศการต่างๆ ให้มากขึ้น พร้อมขยายช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสำหรับ B2C ออกไปในกลุ่มออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค และยังมองถึงติ๊กต่อก (Tiktok) สำหรับช่องทางในอนาคตอีกด้วย” ดร. พิศิษฐ์ชี้
อย่างไรก็ดี ดร. พิศิษฐ์ กล่าวว่า เราเพิ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสำหรับ B2C เข้ามาในไลน์สินค้าของบริษัท แต่ก็ยังเป็นการทดลองตลาด โดยจะมีการประเมินหลังจากนี้ว่า ผลิตภัณฑ์ไหนมีการตอบรับที่ดีเพื่อวางแผนผลักดัน และขยายธุรกิจต่อไป แต่ทั้งนี้ หัวใจหลักของเราก็ยังคงเป็นกลุ่มสารเคลือบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยความท้าทายคือ เราจะได้รับโจทย์ความต้องการของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเคลือบผิววัสดุที่แตกต่างออกไปในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชั่นกันน้ำ กันฝุ่น ยับยั้งเชื้อ รวมถึงในอนาคตที่อาจจะมีเรื่องการปกป้อง ป้องกันพื้นผิวที่เฉพาะเจาะจงสำหรับอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนอีกด้วย
สเปรย์เคลือบเซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุก่อสร้างแบบ 2 อิน 1 | ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภายใต้นาโน โค๊ตติ้ง เทค |
สำหรับปีที่ 2 จากผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ ซึ่งคือ สารเคลือบผิวเซลล์แสงอาทิตย์ ดร. ธันยกรเผยว่า มีแผนจะขยายการรับรู้ถึงแบรนด์ หาลูกค้าให้มากขึ้น และขยายสู่ตลาดต่างประเทศ นำร่องที่เวียดนามในปีที่จะถึงนี้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้เปลี่ยนจากเดิมที่มาจาก 2 ยูนิตในปีแรก คือ สารเคลือบผิวเซลล์แสงอาทิตย์ 50% และโซลูชั่นสำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (Solution for Industries) 50% เปลี่ยนเป็น สารเคลือบผิวเซลล์แสงอาทิตย์ 70% และโซลูชั่นสำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (Solution for Industries) ร่วมกับผลิตภัณฑ์ B2C 30% พร้อมทั้งจะลงทุนเพิ่มบุคลากรทีมขาย ซึ่งจะทำให้การทำงานในปีที่ 2 ของเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตอบเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 ทางด้านสารเคลือบในแถบอาเซียนภายใน 5 ปีให้ได้