ในยุคที่นวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนไทยจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต จัดกิจกรรมค่าย “ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สู่อาชีพด้านนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่” ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ให้กับคุณครูและนักเรียน จากสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดปทุมธานี (สกร.ปทุมธานี) จำนวน 8 ศูนย์ ในวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2567 ด้วยการสนับสนุนจากผู้ประกอบการบ้านสวนลุงวัฒน์ จังหวัดจันทบุรี เพื่อสร้างฐานความรู้ที่เข้มแข็งในการเพิ่มทักษะ(Upskill) ผู้เข้าร่วมอบรมสู่การเป็นนักนวัตกรเกษตรในอนาคต
ในยุคที่นวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนไทยจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต จัดกิจกรรมค่าย “ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สู่อาชีพด้านนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่” ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ให้กับคุณครูและนักเรียน จากสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดปทุมธานี (สกร.ปทุมธานี) จำนวน 8 ศูนย์ ในวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2567 ด้วยการสนับสนุนจากผู้ประกอบการบ้านสวนลุงวัฒน์ จังหวัดจันทบุรี เพื่อสร้างฐานความรู้ที่เข้มแข็งในการเพิ่มทักษะ(Upskill) ผู้เข้าร่วมอบรมสู่การเป็นนักนวัตกรเกษตรในอนาคต
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ สวทช. ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่เป็นแนวคิดสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน การพัฒนานวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เพียงแค่ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้ แต่ยังต้องสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังต้องมองถึงความเป็นไปได้ในเชิงการตลาดเพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่ยั่งยืนต่อไป
ในกิจกรรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับโอกาสในการเรียนรู้และประยุกต์ใช้นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ผ่านการออกแบบและควบคุมกล่องปลูกพืชด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น Coding และ IoT ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในยุคดิจิทัลจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.จุฬาลักษณ์ วัฒนานนท์ และอาจารย์พลวัฒน์ จินตนาภรณ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มทร.ธัญบุรี และยังได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพืชจากคุณเสาวณีย์ บัวโทน ครูชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต และคุณสันติ อาริยะ นักวิชาการ ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร โดยได้แนะนำพืชที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ เช่น เคล ราชินีผักใบเขียว และพืชกินแมลง ซึ่งเป็นพืชที่สามารถต่อยอดในการพัฒนาเป็นอาชีพเสริมได้ในอนาคต
ตัวอย่างโครงงาน ที่น่าสนใจในกิจกรรมครั้งนี้คือโครงงานต้นแบบกล่องปลูกพืช ที่นำเสนอโดย นายชวินธร อัครทัตตะ นักเรียนจาก Charterhouse School, UK ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดการปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการวางแผนการตลาดที่ชัดเจนในการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด สิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาในการมองเห็นภาพรวมของการพัฒนานวัตกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน
ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากกิจกรรมนี้คือการเสริมสร้างความรู้และทักษะที่เข้มแข็งให้กับผู้เข้าร่วมอบรม พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ได้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและประเทศชาติในอนาคต
น.ส.สิริรัตน์ มีภาคสม ครู กรมส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอลำลูกกา (สกร.ลำลูกกา) กล่าวว่า “กิจกรรมเป็นตัวอย่างสื่อการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ได้ดีมาก ๆ ค่ะ สนุก ตื่นเต้น น่าสนใจทุกขั้นตอนในการเรียนรู้ วิทยากรทุกท่านสอนดี เป็นกันเอง และดูแลผู้เข้าร่วมอบรมอย่างทั่วถึง ภาพรวมดีทุกอย่างและคิดว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลพืชได้จริงที่ สกร.ลำลูกกา เช่น ช่วยอนุบาลพืชต้นอ่อน และมีเซนเซอร์วัดค่าต่าง ๆ ทำให้รู้ว่าพืชชนิดใดเหมาะสมกับน้ำ อุณหภูมิ ปุ๋ย และแสงในระดับใด เพื่อให้พืชสามารถปรับตัวในกล่องได้อย่างแข็งแรง ก่อนนำออกไปปลูกในแปลงจริง”
ด้านนายศักดา ป้องกัน นักศึกษาจาก สกร.ลำลูกกา กล่าวว่า “การเข้ามาร่วมอบรมในครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีการเกษตรมากขึ้น และตนคิดว่าอยากนำความรู้ที่ได้รับไปทดลองปลูกพืช และนำมาขายเป็นการสร้างอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มอีกด้วย”
กิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเยาวชนไทย ให้พร้อมกับการเผชิญกับความท้าทายในอนาคต และเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาอาชีพและชีวิตอย่างยั่งยืน