หน้าแรก สวทช. โดย ไบโอเทค ถวายรายงานความก้าวหน้าโครงการเหมืองผาแดง และร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สวทช. โดย ไบโอเทค ถวายรายงานความก้าวหน้าโครงการเหมืองผาแดง และร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
25 ธ.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

 วันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมด้วยคณะวิจัยจากไบโอเทค ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน นางสาวเชษฐ์ธิดา ศรีสุขสาม นางสาวสมฤทัย ใจเย็น และนางสาววรางคณา จันดา ร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดตาก ณ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านพะเด๊ะ หมู่ที่ 4 ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ไบโอเทค สวทช. เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ผ่าน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) มีงานวิจัยและการทำงานร่วมมือผ่านโครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก” ภายใต้แผนแม่บทและกรอบความร่วมมือระหว่างโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก และ สวทช. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2569) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และนวัตกรรมที่สนับสนุนโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ในพื้นที่ “เหมืองผาแดง” สำหรับในปีนี้ ทีมวิจัยจากไบโอเทค สวทช. และพันธมิตร ได้ดำเนินโครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG”

ในการดำเนินโครงการวิจัยมีความเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดตาก รวมถึงสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป อาทิ การสร้างคลังข้อมูลเห็ดกินได้และราแมลง การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การสร้าง seed ball เพื่อเร่งการงอกของเมล็ดป่าไม้ การผลิตอิฐชีวภาพจากเห็ดราและขยะทางการเกษตร การผลิตกาแฟหมักยีสต์ การผลิตไซเดอร์จากเปลือกผลกาแฟ การใช้จุลินทรีย์หรือชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมโรคพืชและแมลง รวมถึงการส่งเสริมพันธุ์พืช โดยแนะนำพันธุ์มะเขือเทศที่เหมาะสมแก่เกษตรกร

โดยหนึ่งในความก้าวหน้าของผลงานจากโครงการดังกล่าว คือ การรวบรวมข้อมูลเห็ดราและราแมลง จากพื้นที่เหมืองผาแดงและพื้นที่ใกล้เคียงในฐานะพันธมิตรภาคีเครือข่ายของผาแดง ทางคณะวิจัยจากไบโอเทค สวทช. รวบรวมตัวอย่างเห็ดราได้มากกว่า 130 ตัวอย่าง และตัวอย่างราแมลงมากกว่า 200 ตัวอย่าง โดยผลการศึกษาในพื้นที่เหมืองผาแดงก่อนหน้านี้ มีการรายงานการค้นพบเห็ดรากลุ่มย่อยสลายไม้และราแมลงในพื้นที่จากนักวิจัยของ สวทช. ว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกและได้ถูกตีพิมพ์ไปแล้วในวารสารทางวิชาการในระดับนานาชาติ จำนวนทั้งหมด 7 ชนิด ประกอบด้วย 1) Daldinia phadaengensis BBH 47511, 2) Daldinia flavogranulata BBH47510, 3) Pyrenopolyporus laminosus BBH47928, 4) Purpureomyces maesotensis BBH 44500, 5) Pyrenopolyporus bambusicola BBH47923, 6) Pyrenopolyporus cinereopigmentosus BBH47927 และ 7) Pyrenopolyporus macrosporus BBH47924

นอกจากนี้ ในคลังข้อมูลราแมลงของไบโอเทค ยังพบราแมลงที่คาดว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกอีก 3 ชนิดจากพื้นที่เหมืองผาแดง ได้แก่ Metarhizium phadaengense, Metarhizium pseudoniveum และ Ophiocordyceps phadaengense ซึ่งขณะนี้ทีมนักวิจัยอยู่ระหว่างการรวบรวมผลและเตรียมตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยราแมลงที่พบส่วนใหญ่จัดอยู่ในสกุลบิวเวอเรียและเมตาไรเซียม ซึ่งมีคุณสมบัติในการจัดการแมลงศัตรูพืชได้หลากหลายชนิด นำไปสู่การต่อยอดทางการเกษตรได้ ดังตัวอย่างในโครงการนี้ซึ่งได้นำเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์เผยแพร่สู่พื้นที่ชุมชนชาวจังหวัดตาก ภายใต้ความร่วมมือโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เหมืองผาแดง) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ มีแนวทางการดำเนินงาน 3 แนวทาง ดังนี้

1.“สอนให้รู้ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้วยเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรพื้นที่สูงและกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งชาวเผ่าม้ง มูเซอ และลีซอ เน้นสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของสารเคมีเกษตร การป้องกันตนเองและการจัดการของเสียปนเปื้อนสารเคมี แนะนำองค์ความรู้ เสนอทางเลือกโดยใช้ ชีวภัณฑ์เกษตรและการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก มุ่งหมายจัดตั้งศูนย์การผลิตชีวภัณฑ์ราบิวเวอเรีย เมตาไรเซียม และไตรโคเดอร์มา ในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน

2.“ทำให้ดู การแสดงประสิทธิภาพของการใช้ชีวภัณฑ์ในการจัดการศัตรูพืชเชิงประจักษ์ ผ่านพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงของจังหวัดตาก คือ กาแฟ โดยจัดทำแปลงทดสอบสาธิตการจัดการแปลงกาแฟต้นน้ำ ในพื้นที่ดอยมูเซอและดอยห้วยเหลือง ทำงานร่วมกับเกษตรกร สำรวจประชากรแมลง ทั้งแมลงศัตรูพืช และแมลงที่มีประโยชน์ เช่น แมลงศัตรูธรรมชาติที่คอยกำจัดแมลงร้าย แมลงผสมเกสรต่าง ๆ เป็นต้น ติดตามการปรากฏของโรคพืชต่าง ๆ การศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่และการทดสอบประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์นี้ มีวัตถุประสงค์หลักจะสร้างองค์ความรู้การจัดการสวนกาแฟด้วยชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี อันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์หรือกาแฟปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรในพื้นที่ และยังส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากกาแฟนี้มักจะปลูกร่วมหรือปลูกในพื้นที่ป่าไม้

3.“วางรากฐาน การอบรมเชิงปฏิบัติการ เน้นการเรียนรู้และลงมือทำจริงให้กับเยาวชน และนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้สามารถต่อยอดและนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับครอบครัวของตน “จะทำการเกษตรอย่างไรที่ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือใช้น้อยลง” ซึ่งการจะใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ผล อย่างแรกคือต้องวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชได้ คือ โรคร้าย แมลงดี แมลงร้าย เพราะแมลงมีหลายชนิด ตัวไหนดีต้องเก็บไว้ ตัวไหนร้ายต้องรีบควบคุม รวมไปถึงการเชื่อมโยงเรื่องการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำรวจได้ในพื้นที่ผาแดง คือ เรื่องเห็ดราและราแมลง นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเข้มข้นให้กับนักเรียนโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 เพื่อเป็นศูนย์ผลิตชีวภัณฑ์อีกหนึ่งแห่งของจังหวัดตากต่อไป

กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานท้องที่นี้ จำเป็นต้องกระทำอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง เพื่อการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ การทำการเกษตรปลอดภัย การยกระดับความสามารถของเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่วิถีชีวิตที่มีกินมีใช้อย่างยั่งยืนปลอดภัยต่อไป

แชร์หน้านี้: