สวทช. โดย EECi และนาโนเทค นำเสนอชุดตรวจการปนเปื้อน “สารเคมี-โลหะหนัก-จุลินทรีย์” พร้อมเปิดเวทีสาธิต-ทดสอบในตัวอย่างน้ำ สมุนไพร พืชผลเศรษฐกิจ จากเกษตรกรในพื้นที่ระยอง
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ณ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จัดกิจกรรม “การถ่ายทอดและสาธิต เทคโนโลยีชุดตรวจการปนเปื้อนสารเคมี โลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ กับการประยุกต์ใช้ในพืชสมุนไพรและทุเรียน” เพื่อยกระดับมาตรฐานของผลผลิตในท้องถิ่น เพิ่มความเชื่อมั่นทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ ตลอดจนผู้ประกอบการที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. เข้าร่วมจำนวนมาก
ดร. วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กล่าวว่า EECi มีบทบาทสำคัญในการเป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาจาก สวทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนาโนเทค สู่การประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมและชุมชน โดยกิจกรรมในวันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำเทคโนโลยีชุดตรวจการปนเปื้อนสารเคมี โลหะหนัก และเชื้อจุลินทรีย์ มายกระดับมาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตทางการเกษตรของพื้นที่ EEC ซึ่งรวมถึงพืชสมุนไพรและทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออก ทั้งนี้การสนับสนุนการถ่ายทอดและสาธิตเทคโนโลยี เช่น ชุดตรวจจากศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. ถือเป็นภารกิจหลักของ EECi ในการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจโดยรวมของ EEC
“การจัดกิจกรรมในวันนี้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของ EECi ในการส่งเสริมการนำ วทน. มายกระดับขีดความสามารถของภาคการเกษตรในพื้นที่ EEC เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิต เช่น พืชสมุนไพร และทุเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” ดร. วุฒิกล่าว
ด้าน ดร. วีรกัญญา มณีประกรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน (RMNS) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการนำเสนอเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองการปนเปื้อนสารเคมี โลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์เบื้องต้นโดยเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถใช้คัดกรองผลผลิตเบื้องต้น เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้ด้วยตนเอง เทคโนโลยีนี้เป็นการต่อยอดมาจากผลงานวิจัยของนาโนเทคที่มีการทำงานร่วมกับ EECi เรื่องนาโนเซ็นเซอร์ตรวจวัดการปนเปื้อนโลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ในสมุนไพร และต่อเนื่องสู่พืช ผัก ผลไม้เศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในผลผลิตทางการเกษตรว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งตลาดไทยและตลาดโลกให้ความสำคัญมาก
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
“เทคโนโลยีชุดตรวจฯนี้ นาโนเทคพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ สู่เซ็นเซอร์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งชุดตรวจ ChemSense นำทีมโดย ดร.กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์ ที่สามารถคัดกรองการปนเปื้อนแมงกานีส (Mn) ฟลูออรีน (F) เหล็ก (Fe) ทองแดง (Cu) ในน้ำอุปโภคบริโภค และเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าตรวจวัดโลหะหนักอย่าง แคดเมียม (Cd) ตะกั่ว (Pb) ปรอท (Hg) สารหนู (As) นำทีมโดย ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์ ที่นำร่องตรวจวัดสิ่งปนเปื้อนในน้ำและพืชสมุนไพร และจะขยายสู่การตรวจคัดกรองแคดเมียมในพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียน ที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน รวมถึงชุดตรวจคัดกรองเชื้อจุลินทรีย์ โดย ดร.จีราพร ลีลาวัฒนชัย สำหรับตรวจตัวอย่างสมุนไพรหรือพืชแปรรูปที่อยู่ในรูปแบบผง” ดร. วีรกัญญากล่าว พร้อมชี้ว่า “ในงานนี้ทีมวิจัยได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการมาสาธิตเพื่อให้เห็นรูปแบบของการใช้งานจริง นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีกล้องสแกนว่า มีการเคลือบสารเคมีต่าง ๆ รวมถึง BY2 (สารเร่งการสุก) บนผิวทุเรียนหรือไม่ พัฒนาโดย ดร.วิศรุต ปิ่นรอด นำมาร่วมสาธิตและทดสอบการใช้งานอีกด้วย”
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ภายในงาน เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ลงทะเบียน นำตัวอย่างดิน น้ำในแปลงปลูก สมุนไพร พืชแปรรูป รวมถึงทุเรียนมาทดสอบการตรวจคัดกรองการปนเปื้อนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากงานวิจัยต่างๆ ของ สวทช. อาทิ การจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร DAPBOT ระบบ Smart Farm WaterFit Simple และ HandySense รวมทั้งผลงานของภาคเอกชน Startup ที่ต่อยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมจาก สวทช. อาทิ BioChelete โดย บริษัท วิทิกรุป จำกัด และ Magik Growth โดย Salee Color มาจัดแสดงเพื่อเปิดมุมมอง สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ของการนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพ แก้ปัญหา และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคการเกษตรของไทย
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2564-7000