หน้าแรก CPF อาสาร่วมสนับสนุนเด็กไทยไปองค์การสำรวจอวกาศ JAXA ประเทศญี่ปุ่น
CPF อาสาร่วมสนับสนุนเด็กไทยไปองค์การสำรวจอวกาศ JAXA ประเทศญี่ปุ่น
17 พ.ย. 2566
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

 (17 พฤศจิกายน 2566) ตามที่ สวทช. ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น จัดแข่งขันโครงการ Asian Try Zero-G 2023 และได้คัดเลือกแนวคิดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของตัวแทนเยาวชนไทยที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 3 เรื่อง โดยแนวคิดทั้ง 3 เรื่องนี้จะนำไปทดลองจริงในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ โดย นายซาโตชิ ฟุรุคาวะ (Satoshi Furukawa) นักบินอวกาศญี่ปุ่นที่ปฏิบัติการบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ซึ่งในการนี้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กำชับให้ สวทช. ดำเนินการทุกวิถีทางให้เด็กไทยได้ไปร่วมกิจกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่น  ล่าสุดทีมจัดกิจกรรมของ สวทช. ได้รับการติดต่อจากบริษัท CPF อาสาร่วมให้ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าว

สวทช. ขอขอบคุณ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่ได้ติดต่อขอร่วมสนับสนุนในการส่งเด็กไทยไปร่วมโครงการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA)  ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของเยาวชนไทยที่จะได้นำความรู้ความสามารถไปแสดงในเวทีโลก

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า “CPF รู้สึกยินดีและร่วมชื่นชมน้อง ๆ เยาวชนไทยที่เก่งและมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น จนได้รับคัดเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ให้ไปทดลองโครงงานบน Kibo Module สถานีอวกาศนานาชาติ เรา CP แบรนด์อาหารของคนไทย อยากช่วยเติมฝันของน้อง ๆ ในโอกาสนี้ เพราะเราเชื่อในศักยภาพของคนไทย ที่ยังก้าวไปได้อีกไกลในเวทีโลก หากเราร่วมกันผลักดัน”

ทาง สวทช. ยินดีที่ก่อนหน้านี้ CPF ก็ได้ดำเนินโครงการ Thai Food-Mission to Space  เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารไทย ก้าวสู่มาตรฐานใหม่ไปพิชิตมาตรฐานอวกาศ (Space Food Safety Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง ระดับเดียวกับที่นักบินอวกาศรับประทาน ตามหลักเกณฑ์ขององค์กร NASA มาแล้ว และตอนนี้ได้ขยายโอกาสมาสานฝันน้อง ๆ ให้มีโอกาสในเวทีระดับโลกเพิ่มเติมขึ้นอีก สวทช. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในภารกิจการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติและประชาชนทั่วไป รวมทั้งจะแสวงหาโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถและเข้าร่วมในกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ อย่างเต็มกำลัง

สำหรับแนวคิดการทดลอง 3 เรื่อง ได้แก่

  1. เรื่อง “ก้อนน้ำทรงกลมกับแรงไฟฟ้า” โดย นายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ นักเรียน ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  2. เรื่อง “การศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลสองลูกบนเส้นเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ” โดย นายณัฐภูมิ กูลเรือน, นายจิรทีปต์ มะจันทร์, นางสาวฟ้าใหม่ คงกฤตยานุกุล และนายภูมิพัฒน์ รัตนวัฒน์ นักเรียน ม.5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
  3. เรื่อง “การออกกำลังกายท่าดาวทะเลภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ” โดย นางสาววรรณวลี จันทร์งาม และนางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ นักเรียน ม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม

อ่านรายละเอียดโครงการเพิ่มที่ https://www.nstda.or.th/home/news_post/sci-news-flash-asian-try-zero-g-2

17 พ.ย. 2566
0
แชร์หน้านี้: