หน้าแรก สวทช.- ธ.ก.ส. จับมือขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML ในพื้นที่จังหวัดยโสธร ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต
สวทช.- ธ.ก.ส. จับมือขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML ในพื้นที่จังหวัดยโสธร ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต
24 ต.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ ห้องสมุด ชั้น 3 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อาคารทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่บางเขน กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงนามความร่วมมือโครงการ “การขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต จังหวัดยโสธร” โดยมี ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ลงนามร่วมกับ นายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พร้อมด้วย นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวนการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. นางสาวณิฎฐา คุ้มโต นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าร่วมงาน

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยที่มุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำมายกระดับภาคการเกษตรที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่ผ่านมา สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาสายพันธุ์ถั่วเขียว KUML ที่มีความต้านทานต่อโรคราแป้งและใบจุด ให้ผลผลิตสูง 300 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมมีการส่งเสริมขยายผลให้เกษตรกรนำถั่วเขียว KUML ไปปลูกเป็นพืชหลังนาในหลายจังหวัด ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ชุมชน และภาคเอกชน โดยพัฒนากลไกตลาดนำการผลิต สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงพักแปลง ส่งผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ลดการใช้ปุ๋ยในฤดูทำนา ลดการเผาตอซังข้าว ในส่วนการตลาดภาคเอกชนได้รับผลผลิตถั่วเขียวที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรม

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ สวทช. ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ที่ต้องการจะมุ่งนำองค์ความรู้ผลิตถั่วเขียวและโมเดลตลาดนำการผลิต ยกระดับเครือข่ายเกษตรกรของ ธ.ก.ส.ให้มีความสามารถในการผลิตถั่วเขียวหลังนาเป็นอาชีพเสริม สร้างกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผลิตถั่วเขียว (Gain) ส่งให้กับภาคเอกชนในพื้นที่ สามารถยกระดับรายได้ของเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ ธ.ก.ส. หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น สามารถนำไปองค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวใช้ขยายผลให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนพักชำระหนี้ได้ต่อไป” ดร.สมบุญ กล่าว

นายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ตลอดปี 2567 ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจแก่องค์กรและลูกค้าด้วยนวัตกรรม ด้วยการขยายผลนวัตกรรมเกษตรสู่การใช้ประโยชน์ โดยได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรร่วมกับภาคีเครือข่ายภายนอก ผ่านรูปแบบการสนับสนุนทุนวิจัยและค้นหานวัตกรรมให้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยที่เหมาะสมกับบริบทการเกษตรในประเทศไทย โดยค้นหาและคัดเลือกนวัตกรรมเกษตรพร้อมใช้ที่เหมาะสมต่อกลุ่มเป้าหมาย อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารในการมีนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ดำเนินโครงการการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต จังหวัดยโสธร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML โดยส่งเสริมการปลูกถั่วเขียวเป็นพืชหลังนา และมีกลไกการทำงานเชื่อมโยงกับสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร เพื่อเป็นจังหวัดนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งหวังการสร้างกลุ่มผู้ผลิตถั่วเขียวที่ให้ผลผลิตสูง (Grain) ส่งโรงงานอุตสาหกรรม และตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว (Seed) ระดับชุมชน สามารถลดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่ดีและมีคุณภาพ พร้อมนำองค์ความรู้ไปเป็นต้นแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรในชุมชนอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อธุรกิจภาคการเกษตร และสร้างผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นต่อไป และจะส่งเสริมขยายผลเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนพักชำระหนี้” นายเสกสรรค์ กล่าว

 

แชร์หน้านี้: