หน้าแรก สวทช.-กวก.-ม.เกษตรฯ ประสานความร่วมมือวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีด้านการเกษตร พร้อมหนุนเสริมต่อยอดใช้งานวงกว้าง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้เกษตรกรไทย
สวทช.-กวก.-ม.เกษตรฯ ประสานความร่วมมือวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีด้านการเกษตร พร้อมหนุนเสริมต่อยอดใช้งานวงกว้าง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้เกษตรกรไทย
19 ก.ย. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(19 กันยายน 2567) ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี – 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กรมวิชาการเกษตร โดย นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร และส่งเสริมการต่อยอดใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย” เพื่อร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทย โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และจะช่วยกันสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเกษตรสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างในทุกมิติ โดยเฉพาะในเรื่องของการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวนที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรทุกวันนี้ เพื่อเป้าหมายที่สำคัญที่ไม่ใช่เพียงแค่ให้เกษตรกรไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเท่านั้น แต่ยังสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วย

 ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร และส่งเสริมการต่อยอดใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทั้ง 3 หน่วยงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร รวมถึงการพัฒนาบุคลากรการวิจัยและพัฒนาในด้านการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ได้มีความร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ผลงานที่เด่นชัดในด้านการเกษตร ได้แก่

1) งานวิจัยด้านเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืช ในเรื่องนี้ ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. ได้มีความร่วมมือในการปรับปรุงพันธุ์พืช 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด และมะเขือเทศ โดยข้าวโพด ทางไบโอเทค ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวบรวมประชากรข้าวโพดเพื่อใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมที่มีความหลากหลายและนำมาใช้ค้นหายีนที่มีความสัมพันธ์และเหมาะสม พร้อมพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลสนิป (SNP) ที่จำเพาะ เพื่อใช้ในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดให้มีความต้านทานโรคใบไหม้แผลใหญ่ เป็นต้น  ขณะที่มะเขือเทศ ทางไบโอเทค ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีแผนพัฒนาการปรับแต่งพันธุกรรมอย่างจำเพาะเพื่อพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศทนร้อนและมีความหวานพิเศษ และพัฒนาบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรมอย่างจำเพาะ

2) เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ไบโอเทค โดยงานความปลอดภัยทางชีวภาพ ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ มีความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร จัดทำแนวทางการพิจารณาเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้นำไปใช้เป็นประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “การรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567” และประกาศของกรมวิชาการเกษตร เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567”

และมีแผนการดำเนินงานร่วมกันในระยะต่อไป เช่น

1) การพัฒนาฐานข้อมูล Plant v-STORE โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT)  พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารคลังจัดเก็บเชื้อพันธุกรรมพืช (Plant v-STORE) มุ่งสนับสนุนกิจกรรมการดูแลเชื้อพันธุกรรมพืชที่อนุรักษ์อยู่ในคลังที่กระจายอยู่ที่ต่าง ๆ ในระดับองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์เชื้อพันธุกรรมพืชระหว่างองค์กร ลดความเสี่ยงในการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการดูแลด้วยการปลูกและเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่ต้องจัดเก็บเพื่อความมั่นคงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ v-STORE ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบ Online platform service โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เชื้อพันธุกรรมพืชในภาพรวมของประเทศได้

2) งานวิจัยด้านเทคโนโลยีการประเมินสรีรวิทยาและรูปลักษณ์ขั้นสูงของพืช หรือ Plant Phenomics โดยทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. ซึ่ง Plant Phenomics จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการประเมินเชื้อพันธุกรรม ด้วยการประเมินลักษณะทางฟีโนไทป์ของพืชที่ละเอียดสูง แม่นยำ ไม่ทำลายต้นพืช ข้อมูลที่ประเมินได้จะมีประโยชน์ต่อการค้นหายีนและพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ สำหรับใช้ในการปรับปรุงพันธุ์และระบบเกษตรแม่นยำ โดยไบโอเทค มีแผนจะร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการใช้ฐานพันธุกรรมทั้งในกลุ่มพืชไร่พืชสวนของกรมวิชาการเกษตร เพื่อคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมและทนทานต่อการเพาะปลูกในสภาพโลกร้อนหรือโลกรวนต่อไป

“ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการของ 3 หน่วยงาน ทาง สวทช. จะร่วมดำเนินงานวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรฐานพันธุกรรมพืชอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาพันธุ์พืชโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านโอมิกส์ รวมถึงนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการเขตกรรม การผลิตแบบเกษตรแม่นยำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแปรรูปผลผลิตและของเหลือจากการเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม (Value chain) เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วน รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง ในทุกระดับ” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

 

 

แชร์หน้านี้: