(วันที่ 25 มิถุนายน 2567) ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี : คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) คณะที่ปรึกษาข้าราชการกลุ่มงานคณะกรรมาธิการฯ เข้าเยี่ยมชมและติดตามการบริหารงบประมาณของ สวทช. โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักวิจัย สวทช. ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปกระบวนการทำงบประมาณ ผลงานวิจัยพัฒนาที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมนำคณะฯ เยี่ยมชมหน่วยงาน
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า วัตถุประสงค์การนำคณะกรรมาธิการฯมาเยี่ยมชมในครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจในกระบวนการทำงานและการจัดทำงบประมาณของ สวทช. เพื่อต้องการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานต่างๆในประเทศไทย นำมาปรับปรุงกระบวนการงบประมาณเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โอกาสนี้คณะกมธ. ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้เข้าเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเอไอ อาทิ ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงาน National Science and Technology Infrastructure (NSTI) ของ สวทช. เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยให้บริการระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing: HPC) แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องใช้เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการคำนวณ (Computational Science) และเยี่ยมชมงานวิจัยด้านเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) เช่น แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ (Medical AI Data Platform) แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย (AI for Thai) และ Thai LLM ที่เกี่ยวข้องกับ Application chatbot เป็นต้น ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ ยังมีความสนใจและสอบถามงานวิจัย สวทช. ด้านจีโนม ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. การให้บริการที่ตอบรับอุตสาหกรรมด้านEV ของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สวทช. (PTEC) และให้สนใจกับการวิจัยของ สวทช. ในรูปแบบ BCG Implementation อีกด้วย