10 ข่าวดัง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2558
สวทช. ส่งเสริมการรับรู้ข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประชาชน เปิดให้คนไทย
ลงคะแนนจัดอันดับ 10 ข่าวดัง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2558
โครงการจัดอันดับ 10 ข่าวดังประจำปีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกิจกรรมที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป มีความตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต และนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 22 แล้ว
สำหรับการสำรวจและจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งนี้ ได้รวบรวมข่าวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2557 – 15 พฤศจิกายน 2558 ที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ซึ่งข่าวที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเบื้องต้นมีจำนวนทั้งสิ้น 21 ข่าว แบ่งเป็นข่าวในประเทศ 16 ข่าว และต่างประเทศ 5 ข่าว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รวม 15 หน่วยงาน และสื่อมวลชนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ร่วมกันพิจารณาข่าวในหลากหลายแง่มุมในประเด็นข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง จากนั้นเปิดให้ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ต่างจังหวัด ร่วมลงคะแนนจัดอันดับ 10 ข่าวดังดังกล่าว ผ่านทางระบบออนไลน์ และแบบสอบถาม โดยมีผู้ร่วมโหวตลงคะแนนจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,550 คน
ผลการสำรวจ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2558 ประกอบด้วยข่าวดังต่อไปนี้
อันดับ 10 ข่าว ซุปเปอร์มูนและจันทรุปราคา 2 ปรากฏการณ์ใน 1 วัน
ตอนค่ำของวันที่ 28 กันยายน 2558 คนไทยได้เฮเมื่อเกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์มูน ที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร สามารถมองเห็นดวงจันทร์สว่างและมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3 % สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสในการชมในปีนี้ คงต้องรอปรากฏการณ์เช่นนี้ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2576 โดยในช่วงเช้าของวันที่ 28 กันยายนนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงขึ้น แต่ประเทศไทยไม่สามารถมองเห็นได้เนื่องจากตรงกับเวลากลางวัน แต่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนในแถบอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก ยุโรป แอฟริกา และด้านตะวันตกของเอเชีย
อันดับที่ 9 ข่าว นาซาพบ! น้ำไหลบนดาวอังคาร
ในวันที่ 28 กันยายน 2558 นอกเหนือจากการเกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์มูนและจันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว ยังถือว่าเป็นวันที่นาซาได้ประกาศการค้นพบร่องรอยการไหลของน้ำบนดาวอังคาร ซึ่งถือเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์โลก โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าร่องรอยสีดำที่เกิดขึ้นเป็นพวกแร่ธาตุและผลึกเกลือที่ละลายอยู่กับน้ำ
อันดับที่ 8 ข่าว นาซาเฮ! ยานสำรวจพิชิตดาวพลูโต
ด้วยระยะทางจากโลกไปยังดาวพลูโตที่โคจรอยู่ขอบสุดในระบบสุริยะจักรวาลไกลมากถึง 3 พันล้านไมล์ แต่ในที่สุดยานสำรวจ “นิวฮอไรซันส์” ที่ถูกส่งไปในอวกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญในการสำรวจดาวพลูโตและดาวเคราะห์แคระดวงอื่นๆ หลังจากที่ออกจากโลกไปเป็นเวลาถึง 9 ปี ก็สามารถเดินทางไปยังดาวพลูโตได้สำเร็จอย่างงดงาม โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่องนาซาทีวี
อันดับที่ 7 ข่าว เมือกหอยทากไทย ก้าวไกล! สู่ธุรกิจความงาม
ผลการศึกษาของนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ค้นพบนวัตกรรมครั้งสำคัญจากเมือกหอยทากของไทยที่มีชื่อว่า “หอยนวล” ซึ่งพบว่ามีสารนานาชนิดที่มีคุณประโยชน์มากมาย เหมาะต่อการซ่อมแซมและบำรุงผิวพรรณ จึงจัดได้ว่าเป็นเมือกที่มีคุณภาพ สามารถนำมาต่อยอดหรือพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านเครื่องสำอางและธุรกิจความงามได้
อันดับที่ 6 ข่าว เปิดปมปริศนา! ไฟไหม้บ้านพัทลุง
จากเหตุการณ์กรณีที่ไฟปริศนาลุกไหม้สิ่งของเครื่องใช้นับร้อยครั้งที่บ้านหลังหนึ่งใน จ.พัทลุง แต่กลับไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดได้ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ มีการออกข่าวอย่างครึกโครม จนทำให้หลายหน่วยงานต้องลงพื้นที่ร่วมกันพิสูจน์หาต้นเหตุของการเกิดไฟปริศนา แม้ว่าจะมีบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด และเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งของต่างๆ จะลุกไหม้หรือติดไฟได้เอง แต่ยังไม่ทำให้สังคมคลายความสงสัยลงไปได้ ภายหลังได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบ้าน จึงได้พบภาพหญิงสาวที่นั่งอยู่คล้ายกำลังจุดไฟ จากนั้นจึงเรียกเด็กที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาชี้จุดเกิดเหตุ เพื่อให้คนในบ้านช่วยกันดับไฟที่ลุกโชนขึ้นมา เมื่อภาพดังกล่าวปรากฏออกไปจึงคลายความสงสัยของคนในสังคมไปโดยปริยาย
อันดับที่ 5 ข่าว เผย! ภาพถ่ายดาวเทียมแผ่นดินไหวเนปาล
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) บันทึกภาพบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลด้วยดาวเทียมไทยโชต เพื่อดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ก่อนและหลังโดยได้บันทึกภาพเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 เวลา 12.10 น. ตามเวลาในประเทศไทย และเปรียบกับข้อมูลภาพก่อนเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 และได้ส่งแผนที่ดังกล่าวให้กับองค์การสหประชาชาติด้วยในฐานะที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ RESAP เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับประเทศสมาชิกในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ
อันดับที่ 4 ข่าว กลับมาอีกครั้ง “พระจันทร์ยิ้ม”
ในค่ำคืนของวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2558 ได้เกิดปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่เป็นดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงจันทร์เสี้ยวในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยสามารถมองเห็นเหมือน “พระจันทร์ยิ้ม” เป็นเวลาถึง 3 วัน
อันดับที่ 3 ข่าว จันทรุปราคาเต็มดวงสีแดง
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวงครั้งนี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 4 เมษายน 2558 มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์ ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้จัดกิจกรรมตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ กว่า 40 กล้อง ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นการตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อสังเกตการณ์จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ สดร. ยังร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์อีก 3 แห่งคือที่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตลอดเวลา 5 นาทีที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่เวลา 18.57 – 19.02 น. ช่างภาพและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างให้ความสนใจเก็บภาพดวงจันทร์สีแดงกันอย่างคึกคัก
อันดับที่ 2 ข่าว มหันตภัย! ไวรัสเมอร์ส
แม้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2558 ก็ตาม แต่เหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สก็ยังคงอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปอยู่ เนื่องจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้พบผู้ป่วยไวรัสเมอร์สใน 26 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และมีการแพร่ระบาดรุนแรงในเกาหลีใต้ และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากตะวันออกกลางติดเชื้อไวรัสเมอร์สรายแรกในประเทศไทย และได้เข้ารับการรักษาตามมาตรฐานและปลอดภัยจากการเป็นผู้ป่วยโรคเมอร์ส
อันดับที่ 1 ข่าว ตื่น! อุกกาบาต ลูกไฟตกจากฟ้า
เช้าวันที่ 7 กันยายน 2558 มีผู้บันทึกภาพลูกไฟพวยพุ่งจากท้องฟ้าสว่างวาบ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ข้อมูลว่าเป็น “อุกกาบาต” เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เมตร น้ำหนัก 66 ตัน ความเร็วที่พุ่งเข้ามาในโลกวัดได้มากมากกว่า 75,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีค่าเทียบเท่าการระเบิดของทีเอ็นที 3.9 กิโลตัน ในเวลาห่างกันไม่นานนัก ค่ำคืนของวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 พบลูกไฟสว่างวาบ สีเขียว ตกลงมาจากฟ้าอีกครั้ง โดยเบื้องต้น สดร. คาดว่าจะเป็นลูกไฟที่เกิดจากวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เสียดสีจนเกิดความร้อนจนลุกไหม้ เห็นเป็นลูกไฟสว่างและมีควันขาวเป็นทางยาว
มีข้อสังเกตจากผลการสำรวจในครั้งนี้ ปรากฏมีข่าวทางด้านอวกาศและดาราศาสตร์ติดอันดับมากถึง 6 ข่าว ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่พบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียกันเป็นจำนวนมาก นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยหันมาศึกษา ค้นหาคำอธิบายต่อการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากขึ้น
ในแง่ของของนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์เอง ก็เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และนำผลงานต่างๆ เผยแพร่สู่สาธารณชนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งและถ่ายทอดองค์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องสู่ประชาชน เพื่อช่วยให้เกิดกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และสามารถนำกระบวนการคิดนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป