หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 3 ฉ.11 – “นวัตกรรมอาหาร” เพื่อสุขภาพ
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 3 ฉ.11 – “นวัตกรรมอาหาร” เพื่อสุขภาพ
15 ก.พ. 2561
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

“นวัตกรรมอาหาร” เพื่อสุขภาพ

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ทว่าการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จะยังประโยชน์ต่อชีวิตให้ยืนยาวและไร้โรคภัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชวนชิม อิ่มอร่อย สุขภาพดี ด้วยหลากหลายผลิตภัณฑ์ “นวัตกรรมอาหาร” ผลผลิตจากฝีมือนักวิจัยไทย ที่พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เพื่อคนรักสุขภาพ

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโภชนาการสูง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ข้าว” คือ อาหารหลักที่ขาดไม่ได้ในแทบทุกมื้อของการเฉลิมฉลอง เพราะข้าวให้สารอาหารและพลังงานที่เหมาะสม และเพื่อให้ข้าวเป็นอาหารที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคต่างๆ ได้มากขึ้น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน วิจัยพัฒนาปรับปรุง “พันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่” ข้าวเจ้าพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติด้านโภชนาการสูง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวเจ้าที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นด้านโภชนาการคือ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ เบต้าแคโรทีน แกมมาโอไรซานอล วิตามินอี แทนนิน สังกะสี โฟเลต แถมมีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย และทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจน ลดการอักเสบที่ผิวหนัง ช่วยลดริ้วรอยและชะลอความแก่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคสมองเสื่อมได้ นอกจากนี้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังมีสรรพคุณช่วยควบคุมน้ำตาลและควบคุมน้ำหนักได้ เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน สำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากรับประทานข้าวชนิดนี้เป็นประจำก็จะทำให้ได้ธาตุเหล็กซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อระบบเลือด และช่วยบำรุงโลหิตและร่างกายให้แข็งแรงด้วย

ไส้กรอกไขมันต่ำ อร่อยดีไม่อ้วน

“ไส้กรอก” ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารยอดนิยมของคนแทบทุกวัย แถมนำมาใช้ปรุงอาหารได้หลากหลายทั้งอาหารหลัก หรืออาหารว่างในทุกงานสังสรรค์ แต่คงจะดีไม่น้อยหากไส้กรอกธรรมดาที่มีไขมันสูง จะถูกเปลี่ยนเป็น “ไส้กรอกไขมันต่ำ” ที่ทานแล้วไม่ต้องกังวลใจเรื่องน้ำหนัก หรือปัญหาสุขภาพที่จะตามมา

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จับมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเครือเบทาโกร พัฒนา “ไส้กรอกไขมันต่ำ” ด้วยการคิดค้นวิธีรักษาคุณภาพเนื้อสัมผัสและรสชาติให้คล้ายคลึงกับไส้กรอกสูตรดั้งเดิม หรือไส้กรอกไขมันเต็มให้มากที่สุด นับเป็นนวัตกรรมการผลิตไส้กรอกเพื่อสุขภาพครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งไส้กรอกไขมันต่ำที่พัฒนาขึ้นนี้มีส่วนประกอบที่เป็นไฟเบอร์ หรือใยอาหารจากพืชมาใช้ทดแทนไขมันสัตว์ ซึ่งนอกจากมีปริมาณไขมันน้อยกว่า 4% (ไส้กรอกดั้งเดิมมีไขมัน 20-30%) แล้ว ยังให้พลังงานต่ำและมีปริมาณคอเลสเตอรอลต่ำอีกด้วย ที่สำคัญคือยังให้เนื้อสัมผัสและรสชาติของไส้กรอกไม่แตกต่างจากสูตรดั้งเดิม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการทานไส้กรอกที่อร่อยและไม่ต้องกังวลกับไขมันอีกต่อไป ทั้งนี้ไส้กรอกไขมันต่ำได้มีการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปแล้ว 7 อย่าง โดยมีวางจำหน่ายแล้วตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศ

แป้ง SAVA ฟลาวมันสำปะหลัง ไร้กลูเตน

เมนูแสนหวานในทุกเทศกาลปีใหม่คงหนีไม่พ้น เค้ก คุกกี้ และเบเกอรีนานาชนิด ทว่าคงน่าเสียดายมากหากในงานเฉลิมฉลองต้องมีผู้ที่ไม่ได้ร่วมรับประทานเพราะว่าแพ้กลูเตน (Gluten) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ วัตถุดิบที่นิยมนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์จำพวกขนมปัง พาย เค้ก

เพื่อให้เมนูเบเกอรีเป็นของหวานปิดท้ายที่ทานได้ทุกคน ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนา“กระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรม” จากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูงจนได้เป็นฟลาวที่มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำและปลอดภัยต่อการบริโภค สามารถนำไปใช้ทดแทนแป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรีปราศจากกลูเตนต่างๆ ได้ โดยฟลาวมันสำปะหลังที่ผลิตได้นี้ สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวได้หลายชนิด และใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรีต่างๆ ได้หลากหลาย เพื่อทดแทนฟลาวสาลีได้ในสัดส่วนร้อยละ 30-100 ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรมให้กับ บริษัท ชอไชยวัฒน์อุตสาหกรรม จำกัด สำหรับผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า SAVA แป้งอเนกประสงค์ไร้กลูเตน เจ้าแรกในประเทศไทย ซึ่งมีราคาขายถูกกว่าแป้งปราศจากกลูเตนในท้องตลาดด้วย

โยเกิร์ตกรอบ ขนมสำหรับเด็กเล็ก

ปิดท้ายกับเมนูเอาใจเด็กๆ ด้วยขนมทานเล่นที่ทั้งอร่อยและมีคุณค่าทางสารอาหาร เช่น “โยเกิร์ตกรอบ” ซึ่งพัฒนาโดย ITAP สวทช. และบริษัท โจลี่-แฟมิลี่ จำกัด

โยเกิร์ตกรอบผลิตจากเทคโนโลยีอบแห้งแบบแช่แข็งสุญญากาศ เทคโนโลยีที่ช่วยถนอมผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติและคุณภาพใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากที่สุด โดยโยเกิร์ตจะถูกทำให้เย็นจนแข็ง และอยู่ในบรรยากาศที่มีความชื้นต่ำ เกิดสภาวะน้ำแข็งระเหิด โดยไม่มีการละลาย จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเคมีและกายภาพ รวมทั้งยังสามารถรักษาจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตกรอบรสชาติดี และเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ เหมาะสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 12 เดือนขึ้นไป

ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของนวัตกรรมอาหารที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาโดยนักวิจัยไทย เมนูอาหารใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ทุกคนอร่อยได้ เพื่อสุขภาพที่ดี

เรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช.

15 ก.พ. 2561
0
แชร์หน้านี้: