สวทช. จับมืออิสราเอล
จัดสัมมนาเทคโนโลยีการเกษตรก้าวหน้า และการบริหารจัดการน้ำ
เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยในอนาคต
29 มกราคม 2559 ณ อาคารไบโอเทค สวทช. จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานสัมมนา “Technologies for agriculture in dryland: Case study from Israel” โดยเชิญนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำของอิสราเอลมา บรรยาย เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ก้าวหน้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับภัยแล้งของภาคการเกษตรของไทย รวมถึงเพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านวิจัยระหว่างประเทศไทยและประเทศอิสราเอล
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “อิสราเอลเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและทุ่มงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยสำหรับการวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างมากและต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้กลไกสนับสนุนและจูงใจต่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน ซึ่งอิสราเอลมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก (มากกว่า 4% ของ GDP) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ซึ่ง สวทช. ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลมาตั้งแต่ปี 2552 จากการริเริ่มผลักดันผ่านช่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรระหว่างสองประเทศที่กว้างขวาง รวมถึงความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการและการวิจัย อาทิ งานสัมมนาวิชาการประจำปี ไทย-อิสราเอล (the Annual Thai – Israeli Science & Technology Cooperation Conference) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การส่งนักวิจัย/นักวิชาการเข้าฝึกอบรมและทำวิจัยระยะสั้นที่อิสราเอล ตลอดจนงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำที่อิสราเอลมีความเชี่ยวชาญเป็น พิเศษ เป็นต้น”
“เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต สวทช. ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำของอิสราเอล 2 ท่าน คือ รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทช์ (Associate Professor Dr. Naftali Lazarovitch) จาก Ben-Gurion University of the Negev ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง “Water, solute, and heat movement in the root zone: From measurements and models towards optimizing irrigation scheduling” ถือเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะนำมาใช้ในการสร้างแบบจำลองระบบการชลประทานให้น้ำ (irrigation) และการให้ปุ๋ยทางระบบการให้น้ำ (fertigation) อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการของการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) โดย รศ.ดร.นัฟตาลี ยังให้ความสนใจงานวิจัยที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนไปด้วย และ ดร.อูหริ เยอมิยาฮู (Dr. Uri Yermiyahu) นักวิทยาศาสตร์จาก Gilat Research Center, Agricultural Research Organization ซึ่งบรรยายเรื่อง “Integrative view of plant nutrition” มุมมองเชิงบูรณาการของธาตุอาหารในพืช ซึ่งมุ่งศึกษาการให้ธาตุอาหารเพื่อการเพิ่มปริมาณ และคุณภาพของผลผลิตในผักและผลไม้ให้สูงขึ้น นอกจากนั้น ดร.อูหริ ยังให้ความสำคัญกับการนำน้ำเสีย (ที่ผ่านกระบวนการบำบัด) น้ำกร่อย และน้ำเค็มมาใช้กับการเพาะปลูกด้วย ซึ่งอิสราเอลเป็นประเทศที่มีอัตราการบำบัดน้ำเสียเพื่อกลับมาใช้งานใหม่สูง ถึง 75% โดยน้ำเสียที่บำบัดแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกนำมาใช้งานในภาคการเกษตร” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่กว่า 2 ใน 3 ของอิสราเอลเป็นพื้นที่แล้งและเป็นทะเลทรายที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก รวมทั้งมีแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติอยู่น้อย อิสราเอลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพจนประสบความสำเร็จ เช่น ระบบชลประทานแบบน้ำหยด (Drip Irrigation) การให้ปุ๋ยทางระบบการให้น้ำ (Fertigation) การแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพื่อการอุปโภค-บริโภค (Desalination) การนำน้ำเสียจากการอุปโภคกลับมาใช้ใหม่สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม (Wastewater treatment) เป็นต้น ทำให้ในปัจจุบันนอกจากจะสามารถผลิตอาหารเพื่อบริโภคภายในประเทศได้อย่างพอเพียงแล้ว ยังสามารถส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไปขายในภูมิภาคต่างๆ ได้อีกด้วย