งานวิจัยพาหนะเพื่อปกป้องชีวิตผู้โดยสาร
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์บนท้องถนนสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่กำลังต่อสู้กับปัญหานี้นั่นก็คือ การสร้างห้องผู้โดยสารของยานพาหนะให้มีความแข็งแรงปลอดภัย เพื่อปกป้องชีวิตหรือบรรเทาความรุนแรงให้แก่ผู้โดยสาร สิ่งนี้จึงถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่งของนักวิจัยรุ่นใหม่อย่าง ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หรือ ดร.ตั้ม จากห้องปฏิบัติการยานยนต์ หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช.
สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ จึงพาผู้อ่านไปรู้จักกับ ดร.ตั้ม กันค่ะ
ถาม : อยากทราบที่มาของการได้เข้ามาทำงานที่ สวทช. ค่ะ
ตอบ : ตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผมได้สอบชิงทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งทุนจะระบุไว้เลยว่าจะต้องกลับมาทำงานที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งเราทราบตั้งแต่ได้รับทุนแล้วว่าเราจะได้ทำงานด้านไหน กลับมาเราจะได้เป็นนักวิจัย ก็ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี ในระดับปริญญาตรี โท เอก สาขาวิศวกรรมเครื่องกล เน้นการออกแบบวิศวกรรม และก็จบกลับมาทำงานตามที่ได้รับทุนไปครับ
ถาม : การเรียนที่เยอรมัน เป็นอย่างไรบ้างคะ
ตอบ : ตอนไปเรียนที่เยอรมัน ผมต้องไปเรียนภาษาก่อนประมาณหนึ่งปี และต้องไปเรียนเทียบชั้น ม.6 ของที่โน่นอีกหนึ่งปี จึงจะได้เรียนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทควบกันไปเลย ซึ่งผมเลือกเรียนสายวิศวกรรมเครื่องกล ทางมหาวิทยาลัยจะเน้นพื้นฐานในเทอมแรกๆ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่มีผลต่อรูปแบบการทำงานของคนเยอรมันมาก โดยหลักสูตรจะส่งให้นักศึกษาไปฝึกงานที่บริษัทเอกชนหรือโรงงาน เพื่อหัดใช้เครื่องมือพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมก่อน โดยเริ่มตั้งแต่การตะไบ เจีย กลึง เชื่อม ฯลฯ พอเราเริ่มเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็จะเข้าใจการใช้เครื่องไม้เครื่องมือแล้ว ก็จะสามารถเข้าใจทฤษฎีได้ง่ายขึ้น พอเรียนปริญญาโทก็ได้ไปฝึกงานที่ภาคอุตสาหกรรม เค้าจะส่งไปฝึกงานในบริษัทเอกชนเป็นเวลาครึ่งปี ผมได้ไปฝึกงานที่บริษัทรถยนต์ Daimler Chrysler AG ในแผนกที่ทำการวิจัยด้านระบบช่วงล่างของรถตู้ของรถ Mercedes-Benz ที่เมืองสตุตการ์ท และอีกครึ่งปีก็ทำวิทยานิพนธ์จนจบหลักสูตรปริญญาโท จากนั้นก็เรียนต่อปริญญาเอกอีกประมาณสี่ปีครึ่งโดยทำวิทยานิพนธ์ภายใต้โจทย์วิจัยของภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนคลัชต์และระบบส่งกำลัง
การเรียนในสมัยปริญญาเอกที่เยอรมันก็จะคล้ายๆ กับงานที่ทีมของพวกเราทำอยู่ที่ สวทช. ในปัจจุบันนี้เลย คือ การสร้างความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นกับทางภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม ซึ่งโมเดลของทางเยอรมันก็จะเป็นแบบนี้ คือเราอาจจะไม่ได้เน้นทำวิจัยเชิงลึก หรืองานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) เพียงอย่างเดียว แต่ทำงานในลักษณะประยุกต์ (Application) หรือค่อนข้างจะเป็นปลายน้ำ สามารถจับต้องเอาไปใช้ได้เลย เป็นงานที่มีแนวโน้มจะสามารถออกสู่ตลาดได้
ถาม : งานแรกที่เริ่มต้นที่ MTEC คืออะไรคะ
ตอบ : ผมมาเริ่มที่ห้องปฏิบัติการยานยนต์ครับ งานแรกที่ทำคืองานที่ MTEC ดำเนินการอยู่ในช่วงนั้น คือ การออกแบบชิ้นส่วนของระบบเบรครถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่เน้นเรื่องการออกแบบให้ได้ความแข็งแรง ปลอดภัย ถูกต้องตามความต้องการของลูกค้า และอีกงานหนึ่งคือการวิเคราะห์ทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการ Re-Design หรือแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่เค้ามีอยู่แล้วให้ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์บางอย่าง เช่น แข็งแรงขึ้น ต้นทุนลดลง น้ำหนักลดลง เราก็ทำการออกแบบใหม่และทำการวิเคราะห์ทดสอบให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ภาคเอกชนต้องการ
ถาม : ผลงานที่เราได้ไปร่วมทำกับหน่วยงานอื่นมีอะไรบ้าง
ตอบ : เรื่องรถบรรทุกเพื่อเกษตร ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง ประเทศไทย ในส่วนของการทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ ก็จะมีการทดสอบคลัชต์แม่เหล็กไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศรถยนต์ ของบริษัท Valeo Compressor (Thailand) Co., Ltd และออกแบบและพัฒนาโครงสร้างห้องโดยสารรถพยาบาลให้มีความแข็งแรง รองรับการเกิดอุบัติเหตุ ลดอัตราการเสียชีวิต หรือความรุนแรงจากการบาดเจ็บของผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัท สุพรีม โปรดัคส์ จำกัด นอกเหนือจากนี้ก็จะมีหน่วยงานของภาครัฐก็คือ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ก็จะมีการทดสอบการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิง E85 ในรถจักรยานยนต์
ถาม : ประทับใจผลงานไหนบ้างคะ
ตอบ : ความจริงแล้วผมก็ประทับใจในทุกผลงานนะครับ เพราะแต่ละงานกว่าจะเกิดขึ้นได้ ก็เหนื่อยกันมาหลายฝ่ายตั้งแต่ทีมวิจัยไปถึงฝ่ายสนับสนุน โดยเฉพาะฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ในส่วนของเนื้องานที่จะทำให้ผมประทับใจก็คือการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ ด้วยการสร้างความแข็งแรงและความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับยานพาหนะนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถพยาบาล รถเพื่อการเกษตร หรือรถจักรยานยนต์ก็ตาม เพราะเราต้องตอบโจทย์ของผู้ใช้
รถเพื่อการเกษตร ต้องการบรรทุกผลผลิตโดยมีต้นทุนการขนส่งต่ำที่สุด ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด และมีความปลอดภัยที่สูงที่สุด ส่วนรถพยาบาลนี่ยิ่งสำคัญ เพราะต้องรักษาชีวิตคนทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าผลงานของพวกเรามีคนเอาไปใช้จริง สามารถสร้างความปลอดภัยให้การโดยสารรถพยาบาลได้มากขึ้นจริง ก็จะเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานครับ
ในส่วนของการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างห้องโดยสารรถพยาบาลนั้น เป็นงานวิจัยร่วมกับบริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ สุพรีม โปรดัคส์ จำกัด ที่ทำงานทางด้าน R&D เองอยู่แล้ว งานที่เราได้ทำร่วมกับบริษัทคือ การออกแบบและวิเคราะห์โดยใช้ Computer Simulation มาช่วยในการออกแบบ ทั้งนี้ ได้ทำการออกแบบตัวโครงสร้างที่ทำจากวัสดุ Composite ซึ่งเป็นวัสดุทางเลือกที่มีน้ำหนักเบากว่าโลหะแต่มีความแข็งแรงไม่แพ้โลหะ เราจะได้โครงสร้างของห้องโดยสารรถพยาบาลที่มีน้ำหนักเบาลง สามารถลดต้นทุนลง สามารถทำห้องโดยสารรถพยาบาลได้หลากหลาย สามารถผลิตใช้กับรถได้หลายประเภท หลายๆ รุ่นตามความต้องการของผู้ใช้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความแข็งแรงของตัวรถที่จะลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ในกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ หรือ Rollover ห้องโดยสารจะต้องยังคงรูปอยู่ ต้องไม่บุบสลายอย่างรุนแรงและไม่มีชิ้นส่วนใดของห้องโดยสารมากระแทกผู้ป่วยหรือผู้โดยสารให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งเราได้วิเคราะห์ทดสอบตามมาตรฐานสากล โดยยึดเอามาตรฐาน UNECE R66 ของรถบัสมาใช้ในการอ้างอิงด้านการออกแบบและทดสอบ และดำเนินโครงการเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2557 ในปัจจุบันทางบริษัทก็ได้ดำเนินการผลิตตัวรถนี้ขึ้นมาจำหน่ายแล้ว
สำหรับผลตอบรับ ก็มีการสั่งซื้อในพื้นที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด และในพื้นที่ทุรกันดาร เป็นการใช้งานแบบติดตั้งบนรถกระบะ เพราะเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่ใช้ มีลูกค้าสั่งซื้อเรื่อยๆ ก็เป็นความภาคภูมิใจของทีมงาน แม้ว่าเรื่องของความทนทานของห้องโดยสารและการลดอัตราการเสียชีวิตได้จริงหรือไม่นั้น ต้องดูระยะยาว แต่เราก็คาดหวังว่าจะช่วยลดตรงจุดนี้ให้ได้
ถาม : โครงการวิจัยที่ทำ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนได้อย่างไร
ตอบ : ต้องให้เครดิตกับทางฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (BD) ที่ช่วยแนะนำเราให้ภาคเอกชนรู้จัก พาเราไปคุยกับลูกค้า อีกทางหนึ่งก็คือภาคเอกชนเอง เค้ารู้จักเราผ่านทางเว็บไซต์ หรือเห็นในทีวีว่าเรามีผลงานวิจัยต่างๆ ก็โทรเข้ามาติดต่อเพื่อจะทำโครงการร่วมกัน แต่กว่าจะได้ทำเป็นโครงการจริงๆ นั้นไม่ง่ายเลย แรกๆ นั้นการเจรจาประสบความล้มเหลวเสียส่วนใหญ่ ผมทำงานมาเกือบ 6 ปีเต็มแล้ว ได้ไปรับโจทย์พูดคุยกับลูกค้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เขียนข้อเสนอโครงการมาไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง เจรจาสำเร็จได้ทำงานเป็นโครงการวิจัยไม่กี่โครงการเท่านั้นเอง หลังๆ มาเครื่องเริ่มติดแล้ว ขึ้นโครงการใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น ต้องเรียนรู้และใช้ประสบการณ์พอสมควรที่จะสร้างงานหรือเริ่มโครงการขึ้นมา ต้องขอบคุณฝ่ายพัฒนาธุรกิจด้วย
ถาม : ดร.ตั้ม มีแรงบันดาลใจในการทำงานจากอะไร
ตอบ : สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกอยากทำงานทุกๆ วัน มันเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในความคิดผมก็คือ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนที่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนทุกประเภท ทั้งนี้ เริ่มต้นจากที่ผมศึกษาอยู่ทั้งรถพยาบาล รถเพื่อการเกษตร หรือรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถตู้และรถบัสก็ตาม สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจก็คือ ถ้าเราได้สร้างสิ่งที่ดี ได้สร้างความปลอดภัย ก้าวกระโดดไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้โดยสารด้วยยานพาหนะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถอะไรก็ตาม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หรืองานวิจัยเชิงลึกเสมอไป แต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ จับต้องได้จริง ช่วยสร้างความปลอดภัยให้แก่ชีวิตคนที่โดยสารยานพาหนะต่างๆ ได้จริง ก็ยินดีที่จะเข้าไปทำเสมอ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ
ถาม : ในการทำงาน พบปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร
ตอบ : ปัญหาและอุปสรรคมีอยู่บ้างพอสมควรครับ ตอนกลับมาใหม่ๆ ก็ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ ห้องปฏิบัติการยานยนต์รุ่นบุกเบิกก็เหมือนต้องค่อยๆ หาซื้อของที่ต้องใช้งานกันมาเอง งบประมาณในการจัดซื้อก็ค่อนข้างหายาก อุปกรณ์วัดระยะหรือเซ็นเซอร์ก็มีราคาแพงต้องสร้างขึ้นมาเอง หรือต้องขอยืมใช้งานจากแล็บอื่นๆ บ้าง ซึ่งเป็นปัญหาในช่วงแรกๆ ในช่วงนี้ก็ดีขึ้นแล้ว เพราะหลังๆ มา ทีมวิจัยเริ่มพอจะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้มากขึ้น จนสามารถดึงให้ทางภาคเอกชน เป็นผู้ลงทุนในเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ เอง
อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งตอนที่เรียนจบมาใหม่ๆ เลยก็คือเรื่องของความน่าเชื่อถือ เรายังไม่มีความน่าเชื่อถือ เวลาออกไปพบลูกค้ารู้เลยว่าผิดหวังแน่นอน แต่ก็ออกไปพบเพื่อทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ผมคิดเสมอว่าการได้ออกไปเจอโลกภายนอก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่เงินทุกบาททุกสตางค์ของเขามีค่านั้น ทำให้เราเรียนรู้มากๆ เลย เทคนิคในการแก้ปัญหาความเชื่อมั่นของลูกค้าคือ การเตรียมตัวให้ดีก่อนไปพบ ในตอนเสนอราคาค่าตัวนักวิจัย ก็คิดให้ถูกหน่อย เพื่อสร้างโอกาสให้เราได้งาน พอเขากล้าที่จะจ้างเราแล้ว เราก็ต้องทุ่มเทเยอะๆ ไม่ไปจมกับความคิดว่างานนี้ขาดทุนหรือคิดค่าตัวถูกไป เพราะถ้างานสำเร็จแล้ว เราส่งมอบงานได้ตรงเวลา ความเชื่อมั่นจากลูกค้าก็จะเกิดขึ้นเอง จากนี้เวลาพวกเราไปพบลูกค้าเจ้าใหม่ เอางานเก่าๆ ไปเล่าให้ฟังก็จะน่าเชื่อถือมากขึ้น โอกาสได้งานก็จะมากขึ้นเอง
จากความตั้งใจในการทำหน้าที่ของนักวิจัยที่ดี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย เชื่อว่าผลงานที่ปรากฏจะเป็นกำลังใจอย่างดีให้กับ ดร.ตั้มและทีมงาน เพื่อเป็นพลังในการสร้างสรรค์งานที่ดีต่อไปในอนาคต