สวทช. นำทัพงานวิจัยแสดงในงานประชุมวิชาการประจำปี 2560
การแสดงผลงานวิจัยจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร เจาะลึกประเด็นทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และมหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งใหญ่สุดของประเทศ วันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2560 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี จัดภายใต้แนวคิด “สวทช. ยุคใหม่ ตอบกลุ่มเป้าหมาย ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง”
งานประชุมวิชาการประจำปี 2560 (NAC2017) มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒาของ สวทช.และเครือข่ายพันธมิตร ที่ดำเนินนโยบายตอบโจทย์ ประเทศไทย 4.0 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการนำ วทน. มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในการจัดงาน NAC ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “สวทช. ยุคใหม่ ตอบกลุ่มเป้าหมาย ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” (NSTDA 5.0: Building Thailand towards Sufficiency Economy)
ในการจัดงานจะมีการประชุมและแสดงผลงานวิจัยของ สวทช. และศูนย์วิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นอกเหนือจากผลงานวิจัยต่างๆ แล้ว ในปีนี้ยังได้ขยายรูปแบบและกิจกรรมเพิ่มเติมตามการเปลี่ยนแปลงของภารกิจของ สวทช. ที่นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีผลงานวิจัย สวทช. ที่นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ งานวิจัยที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายของ สวทช. ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ซึ่งครอบคลุมไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน NAC2017 กล่าวว่า ในการสัมมนาและนิทรรศการในปีนี้จะจัดในวันที่ 29-31 มีนาคม 2560 โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มตามงานวิจัยมุ่งเน้นหลักของ สวทช. ได้แก่ แนวคิดของในหลวง ร.9 / เกษตรสมัยใหม่ / ยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ / เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ / การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต / อาหารเพื่ออนาคต / ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ / บริการและการท่องเที่ยว
โดยใน 8 กลุ่มหลักนี้จะนำมาจัดแสดงผ่านการประชุม สัมมนาและนิทรรศการ โดยตัวอย่างหัวข้อการสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ ในหลวง ร.9 กับแรงบันดาลใจ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง / เรียนรู้สะเต็มศึกษาผ่านโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 / ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม / การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจการผลิตเมล็ดพันธุ์ในระดับอาเซียน / ประสบการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย / การพัฒนาสู่ความมั่นคงและความสามารถทางยาในยุคประเทศไทย 4.0
สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นๆ ในงานนิทรรศการครั้งนี้ ได้แก่
- การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ไข่ ที่เกิดจากโจทย์วิจัยร่วมกันระหว่างบริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) และไบโอเทค ที่ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “ไข่เหลวพาสเจอร์ไรส์” และการผลิตแคลเซียมชีวภาพและโปรคอลลาเจนจากเปลือกไข่
- บรรจุภัณฑ์ รุ่นใหม่ “ActivePAK Ultra” ที่พัฒนาขึ้นโดยเอ็มเทค ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ที่ช่วยคงความสด คุณค่า และรสชาติของเห็ดหอมให้สด อร่อย ได้นานสูงสุด 10 วัน พร้อมตอกย้ำจุดยืนของโครงการหลวงที่ช่วยสร้างอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรชาวดอยภาคเหนือ
- ผ้าไม่ถักทอ Nonwovens อีกหนึ่งผลงานของเอ็มเทคที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นสำหรับใช้เป็นวัสดุทางเลือกสำหรับการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรสมัยใหม่
- B-10 กับเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ของไทย เอ็มเทคนำเทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล H-FAME จากโครงการร่วมวิจัยไทย-ญี่ปุ่น ไปขยายผลในระดับโรงงานสาธิต พร้อมทดสอบใช้จริงกับรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการใช้น้ำมัน B10 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2558-2579
- ชุดตรวจและวิธีการตรวจเบาหวานด้วยชุดตรวจไกลเคตเตดอัลบูมิน จากทีมวิจัยนาโนเทคที่พัฒนาชุดน้ำยาที่ใช้ร่วมกับเครื่องตรวจวัดแบบพกพา ที่มีความแม่นยำสูง ใช้งานง่าย สะดวก เหมาะกับการใช้งานในสถานพยาบาลทุกประเภทสามารถตรวจวัดได้ทุกสองสัปดาห์
- ทันระบาด ชุดซอฟต์แวร์ที่เนคเทคพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ โดยปัจจุบันนำร่องที่โรคไข้เลือดออก
- Kid-Bright เป็นบอร์ดที่พัฒนาขึ้นโดยเนคเทคเพื่อกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบและการคิด เชิงสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ learn and play
- โดรนแจมเมอร์ ของบริษัท T-Net ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีรบกวนสัญญาณการควบคุมโดรน เพื่อป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล หรืออาจใช้โดรนบรรทุกสิ่งผิดกฎหมาย
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึงกิจกรรม NSTDA Open House ว่า เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและนักลงทุนที่สนใจ ได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยที่โดดเด่นและหลากหลายจากศักยภาพของบุคลากรวิจัย และห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยของ สวทช. โดยในปีนี้ เปิดให้เยี่ยมชมใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ Smart Farm, Smart Food, Smart Health, Smart Beauty และ Bio-based Economy โดยเป็นการเยี่ยมชมผลงานวิจัยที่โดดเด่นและหลากหลายจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยของ สวทช. และบริษัทเอกชนชั้นนำที่อยู่ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยกว่า 10 บริษัทที่มาร่วมเปิดบ้านในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษ NSTDA Open Service Zone ที่มีบุคลากรด้านพัฒนาธุรกิจที่พร้อมให้คำปรึกษาแก่ภาคอุตสาหกรรมในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ อาทิ สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษี 300% โครงการ Startup Voucher เป็นต้น
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึงงานมหกรรม S&T Job Fair จะจัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2560 ว่าเป็นการจัดมหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีตำแหน่งงานมากกว่า 2,000 อัตรา จาก 120 บริษัทชั้นนำ เช่น บริษัทเบทาโกร จำกัด มหาชน, SCG Chemicals Co., Ltd., บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน), Mitr Phol Grop, Honda R&D Asia Pacific Co., Ltd. (HRAP), สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการแนะนำเรื่องของทุนการศึกษาต่อปริญญาตรี-โท-เอก ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 150 ทุน และพิเศษสุดสำหรับปีนี้ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมงาน S&T Job Fairได้เข้าเยี่ยมชมการทำงานของนักวิจัยในห้องปฏิบัติการของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพการทำงานของนักวิจัยได้อย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการเปิดเวทีเสวนาที่จะ ช่วยสร้างความแตกต่างจากคนอื่นและเตรียมความพร้อมในการสร้างความก้าวหน้าและมั่นคงในสายอาชีพ
ภายในงาน NAC2017 ยังจัดกิจกรรม Food Innovation Service สำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารที่มีความตั้งใจ จะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีเอกลักษณ์ เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการสามารถแวะชมและช้อปบริการต่างๆ ที่หลากหลายของ สวทช. ไม่ว่าจะเป็นบริการที่เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลิตทดสอบตลาด หรือรับจ้างผลิต หน่วยงานรับจ้างและออกแบบผลิตเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะ บริการวิเคราะห์ทดสอบ มาตรฐานและการขึ้นทะเบียนต่างๆ ซึ่งสำคัญมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษา และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอาหารด้วย
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนออนไลน์ร่วมงานได้ที่ www.nstda.or.th/nac2017 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 564 8000