สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิด
งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2559
สวทช. จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2559 ในโอกาสครบรอบ 25 ปี เพียบพร้อมด้วยกิจกรรมการประชุมวิชากการ การสัมมนา-เสวนา หลากหลายหัวข้อ เปิดบ้าน สวทช.ให้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัย นิทรรศการโชว์ผลงานวิจัยเด่น สวทช. และการรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2559 (NSTDA Annual Conference 2016 : NAC2016) ภายใต้หัวข้อ “25 ปี สวทช. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่ออนาคตเศรษฐกิจและสังคมไทย” ที่จัดระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2559 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวบังคมทูลรายงานว่า สวทช. เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 นับถึงปัจจุบันมีการดำเนินงานมาแล้ว 25 ปี สร้างผลงานวิจัยที่เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย อาทิ สายพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วม ชุดตรวจไข้หวัดนก เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติสำหรับการผ่าตัดฟันเครื่องแรกของประเทศไทย ฟิล์มบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุผลิตผลสด เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน เป็นต้น และมีบทบาทในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโครงการตามพระราชดำริ สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่และเยาวชนทุกช่วงชั้น รวมถึงการเสริมสร้างการเรียนการสอนให้แก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และ สวทช. ยังได้สร้างพื้นฐานในการก่อตั้งหลายหน่วยงานที่มีพันธกิจเฉพาะทาง อาทิ สถาบันอาหาร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เลิร์นเทค จำกัด และ บริษัท ที–เน็ต จำกัด เป็นต้น
สำหรับปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานที่เป็นองค์ความรู้ ได้แก่ สิ่งตีพิมพ์ ทรัพย์สินทางปัญญา และผลงานที่ได้รับการถ่ายทอดเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์จำนวนมาก คำนวณได้ว่ามีมูลค่าการลงทุนจากกิจกรรมของ สวทช. 9,580 ล้านบาท ได้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 18,900 ล้านบาท และ สวทช. ยังได้ดำเนินการผลักดันนโยบายระดับชาติที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการทางภาษี 300% และบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนสนใจลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้น สวทช. ได้จัดการประชุมประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. ได้สนับสนุนและดำเนินการโดยนักวิจัยของ สวทช. ทั้ง 4 ศูนย์แห่งชาติ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตและบริการ
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กราบบังคมทูลเบิกผู้เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรในโครงการส่งเสริมการพัฒนา ศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่ สวทช. ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถที่จะนำทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ได้แก่ คณะนักวิจัยโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ โครงการทุน NSTDA Chair Professor และโครงการทุน PTT NSTDA Chair Professor / ผู้ชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 และเกษตรกรผู้ชนะการประกวดนวัตกรรมชาวบ้านด้านการเกษตร
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2559 พร้อมเสด็จฯ ไปทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” ต่อจากนั้นทรงทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานในโซนเทิดพระเกียรติ อาทิ โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 การพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์ของเยาวชนบ้านพินิจสู่การสร้างสรรค์การ์ตูนไลน์ การพัฒนาศักยภาพคนพิการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย และโรงเรียนต้นแบบด้านการศึกษาสำหรับชุมชนชายขอบ เป็นต้น และความก้าวหน้าของผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. อาทิ การพัฒนายาต้านมาลาเรีย P218 ตัวพายึดเกาะเยื่อเมือก เพื่อผลิตภัณฑ์ในช่องปาก ซอฟต์แวร์ทันระบาด รู้ทันเหตุการณ์ไข้เลือดออก อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ไบโอเซนเซอร์ กระจกเปลี่ยนสีอัจฉริยะสำหรับกรองแสงและความร้อน และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นต้น
นอกเหนือจากการประชุม/สัมมนาทางวิชาการ และการแสดงนิทรรศการแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมเปิดบ้าน สวทช. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและวิเคราะห์ทดสอบ และการรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี S&T Job Fair กว่า 2,000 อัตราจากภาครัฐและบริษัทชั้นนำกว่า 100 หน่วยงาน