หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 3 ฉ.1 – รองนายกสมคิด เยี่ยมกระทรวงวิทย์ฯ พร้อมผลักดันโครงการพัฒนาประเทศ
จดหมายข่าว สวทช. ปี 3 ฉ.1 – รองนายกสมคิด เยี่ยมกระทรวงวิทย์ฯ พร้อมผลักดันโครงการพัฒนาประเทศ
18 เม.ย. 2560
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

alt

alt

รองนายกสมคิด เยี่ยมกระทรวงวิทย์ฯ

พร้อมผลักดันโครงการพัฒนาประเทศ

16 มีนาคม 2560 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทย์ฯ ตลอดจนแผนดำเนินงานของกระทรวงในอนาคต พร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รศ. นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ 

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเยี่ยมชมโครงการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องการขับเคลื่อนในปี 2560-2561 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ส่วน ซึ่งได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุน อันได้แก่ EECi, Innovation Museum, Start Up, Food Innopolis, และวิทยาศาสตร์ฐานราก

EECi โครงการยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นการสร้างพื้นที่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ หรือ เป็นเมืองนวัตกรรม (Innovation City) เป็นต้นแบบของการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในลักษณะองค์รวม ที่เน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อก่อประโยชน์สูงสุด ด้วยการรวมศูนย์ห้องปฏิบัติการและสนามทดสอบนวัตกรรม (Fabrication Laboratory & Test-bed Sandbox) ศูนย์รับรองมาตรฐานนวัตกรรมทางด้านระบบและอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยจัดตั้งเป็นเขตทดสอบนวัตกรรมอัจฉริยะของประเทศที่ผ่อนปรนกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนการเป็นชุมชนการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีระดับสูงของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

Innovation Museum พิพิธภัณฑ์นวัตกรรมในอนาคต โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ แหล่งเรียนรู้ทาง วทน. ที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ การใช้เหตุผล นำไปสู่การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่อไปในอนาคต โดยการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์นวัตกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ Innovation World ซึ่งผู้เข้าชมจะได้พบนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ Job World ทำหน้าที่เหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งจะมีการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชม โดยให้ความรู้และทดลองทำงานในสายอาชีพต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Start Up เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่ผ่านมา โดยงานนี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีพลวัต มีการนำเสนอมาตรการส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพในรูปแบบบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรในต่างประเทศ ที่จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพในประเทศไทย และเพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนและบ่มเพาะ“นักรบเศรษฐกิจใหม่” (New Economic Warrior) และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตลอดจนเป็นการสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมดังกล่าวให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

Food Innopolis เมืองนวัตกรรมอาหาร โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสินค้าและนวัตกรรมอาหารมูลค่าสูง ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำของโลก โดยภายในบูทเป็นการจัดแสดงผลงานหรือผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้รักการกินเพื่อสุขภาพ ผู้เป็นเบาหวาน ผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ต้องการควบคุมระดับไขมันในเลือด,ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ เน้นการใช้สารสกัดจากธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พื้นฐาน 3 ประการ คือ อาหารปลอดภัย  ความมั่นคงทางด้านอาหาร  และความมั่นคงทางด้านเกษตรกรรม เป็นต้น

วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อฐานราก โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  เป็นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปพัฒนาชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนในประเทศไทย โดยจะมีโครงการนำร่อง เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเป็นรูปธรรม วท. ได้มอบหมายให้ วว. เป็นหน่วยงานแกนหลักบูรณาการดำเนินงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษา ในการสร้างความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้กลุ่มลูกค้าของธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้าน วทน. มุ่งเน้นการพัฒนาพืชหลักทางการเกษตร 9 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง มะม่วงน้ำดอกไม้ กาแฟ มะเขือเทศ อ้อย และปศุสัตว์ ไก่ไข่และโคเนื้อ จากความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อวงการเกษตรกรรมในด้านของการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังจะทำให้ห่วงโซ่อุปทาน มีความเข้มแข็ง สามารถทำการเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน

18 เม.ย. 2560
0
แชร์หน้านี้: