หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.2 – บทความ รู้จักกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์
จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.2 – บทความ รู้จักกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์
17 พ.ค. 2559
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

alt

รู้จักกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ 

alt

สวทช.จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ของประเทศไทย พร้อมเป็นฐานองค์ความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพ และสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อยอดการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

altalt

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์มีความต้องการใช้จุลินทรีย์ และผลิตภัณฑ์ที่จุลินทรีย์ผลิตมากขึ้น โดยเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นการพัฒนาจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การขาดโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยและพัฒนา กระบวนการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม สำหรับประเมินความเป็นไปได้ก่อนการผลิตจริง และก่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้การต่อยอดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ใช้ระยะเวลานาน ส่งผลให้เอกชนขาดความเชื่อมั่น และภาคอุตสาหกรรมของประเทศสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

เพื่อตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ขึ้น ณ อาคารนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ของประเทศไทย โดยการบูรณาการความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกไบโอเทคให้อยู่ที่จุดเดียว โดยมีฐานเทคโนโลยีสำคัญประกอบด้วย ฐานความรู้และข้อมูลด้านทรัพยากรชีวภาพ เทคโนโลยีกระบวนการทางชีวภาพอย่างเป็นระบบ และการบูรณการด้านคุณภาพและความปลอดภัยในอาหาร รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อการประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

ในการดำเนินงานของ ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 

alt

altalt

1. การวิจัยและพัฒนา ใช้เทคโนโลยีชีวภาพสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อโจทย์และความต้องการของภาคเอกชน ทั้งการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการพัฒนาต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่ได้ พัฒนาขึ้นแล้วไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีแผนการดำเนินงานที่มุ่งเน้นงานวิจัยและ พัฒนาด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์ต้นเชื้อบริสุทธิ์ // การค้นหาเอนไซม์ที่มีศักยภาพเพื่อประยุกต์ใน อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ // การวิจัยด้านการผลิตสารมูลค่าสูง // และการใช้ประโยชน์โปรตีนจากวัสดุเศษเหลือจากกระบวนการแปรรูปอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ // ทั้งนี้เป็นการทำงานวิจัยแบบก้าวกระโดด โดยนำเทคโนโลยีฐานและความสามารถของนักวิจัยมาใช้ในการตอบโจทย์ภาคเอกชนอย่างแท้จริง

alt

 2. การทดสอบและพัฒนาระบบการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับการทดลองในภาคสนามและการประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งจะผลักดันผลงานวิจัยให้สามารถถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

alt

3. การจัดหาและรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างพันธมิตรวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ เป็นตัวกลางจัดหาและปรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการในไทย

alt

 4. การให้บริการทางวิชาการในด้านการเป็นที่ปรึกษา การให้บริการด้านเทคนิค การให้บริการเช่าเครื่องมือสำหรับภาครัฐและเอกชน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการฝึกอบรมเฉพาะทางให้กับบุคลากร เพื่อยกระดับความสามารถทางเทคนิคของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญและทักษะเพิ่มขึ้น ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ด้านการประเมินความเสี่ยงเชิงปริมาณ เพื่อกำหนดเกณฑ์ควบคุมความปลอดภัยในอาหารตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางการผลิต

จากความพร้อมทั้งองค์ความรู้พื้นฐาน และความสามารถทางเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป ประกอบกับการสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรวิจัย ทำให้ ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์มีงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องและสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ อันเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมระดับโลกต่อไป

 

ชมคลิปวิดีโอได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=2MisERWWqFs

17 พ.ค. 2559
0
แชร์หน้านี้: