หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 3 ฉ.2 – “KidBright” จากบอร์ดสมองกลฯ สู่ผลงานสร้างสรรค์…ผ่านจินตนาการวัยทีน
จดหมายข่าว สวทช. ปี 3 ฉ.2 – “KidBright” จากบอร์ดสมองกลฯ สู่ผลงานสร้างสรรค์…ผ่านจินตนาการวัยทีน
7 พ.ค. 2560
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

“KidBright” จากบอร์ดสมองกลฯ สู่ผลงานสร้างสรรค์…ผ่านจินตนาการวัยทีน

วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มนุษย์พัฒนาขึ้นทำให้ “โลกโซเชียล”เข้ามาเชื่อมต่อกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ส่งผลให้หลายสิ่งในการใช้ชีวิตง่ายขึ้น ทั้งในแง่ของการสื่อสารระหว่างกัน การเรียนรู้เทคโนโลยีจากทั่วทุกมุมโลกผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่หลากหลาย

แต่คงจะดีไม่น้อยหากใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี มาส่งเสริมการเรียนรู้ให้เยาวชนได้ต่อยอดจินตนาการไปสู่ความจริงได้ ซึ่งล่าสุด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมหน่วยงานพันธมิตร เล็งเห็นถึงความสำคัญของการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นระบบการคิดที่สำคัญและจำเป็นในการปลูกฝังให้กับเยาวชนโดยเฉพาะในช่วงวัยเรียน จึงจัด โครงการบัวหลวงเพื่อ KidBright มอบชุด KidBright ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งจัดประกวดการประยุกต์ใช้บอร์ด KidBright ในหัวข้อ “ตามรอยพ่อแบบพอเพียง ด้วย KidBright” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร

โครงการดังกล่าว มีการอบรมเชิงปฏิบัติการบอร์ดส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์สมองกลฝังตัว (KidBright Board) โดย ดร.อภิชาติ อินทรพานิชย์ และทีมนักวิจัย รวมทั้งยังมีการบรรยาย“สร้างแรงบันดาลใจ…สู่การสร้างต้นแบบ” จาก ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เนคเทค และนักวิจัยอีกหลายท่าน เพื่อให้น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับฟังพร้อมกับสร้างสรรค์ผลงานนำมาแสดงในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. 2560 (ครั้งที่ 13) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เนคเทค กล่าวว่า KidBright คือระบบสมองกลฝังตัวผ่านบอร์ด ที่หน่วยปฏิบัติการวิจัยอิเล็กทรอนิกส์และระบบทางชีวการแพทย์ ร่วมมือกับ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยี เนคเทค สวทช. พัฒนาขึ้นเพื่อกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบ และเชิงสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ “เรียนและเล่น” หรือ “Learn and Play” บอร์ดถูกออกแบบให้มีการแสดงผลและเซนเซอร์แบบง่าย ซึ่งจะทำงานสอดคล้องกับชุดคำสั่งควบคุมการทำงาน โดยผู้เรียนสามารถออกแบบและสร้างชุดคำสั่งแบบ Block-structured programing ผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ภายใต้ระบบปฎิบัติการ Android รองรับการทำงานแบบ Event-driven programming & Multitasking รวมทั้งการเชื่อมต่อเซนเซอร์ที่หลากหลาย โดยชุดคำสั่งถูกส่งไปยังบอร์ดสมองกลฝังตัวผ่านเครือข่ายไร้สาย ทำให้ใช้งานได้ง่ายไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อสาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หน่วยงานส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และนักเรียนที่สนใจ นับเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ที่เยาวชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยง่าย

สำหรับผลการประกวดนั้น รางวัลที่ 1 ได้แก่ ผลงาน “เก็บหอมรอมริบ” (กระปุกออมสินอัตโนมัติ) จากน้องๆ โรงเรียนราชินี ซึ่ง “น้องแพรวา” ด.ญ. กัลยลักษณ์ ฉิมโฉม อายุ14 ปี นักเรียน ม.2 ตัวแทนทีม กล่าวว่า ด้วยสังคมยุคปัจจุบัน ผู้คนฟุ่มเฟือยในการใช้เงิน ทีมจึงมีการพูดคุยกันว่า ควรหาวิธีออกแบบเครื่องออมเงินอัติโนมัติ เพื่อกระตุ้นการออมเงิน

“หลักการทำงาน คือ ใช้บอร์ด KidBright ที่มีเซนเซอร์แจ้งเตือนอย่างง่าย ใช้ในการแจ้งเตือนยอดการออมเงินตามที่ตั้งเป้าไว้ เมื่อหยอดเงินเข้าไปในกระปุกออมสินอัตโนมัติ USB ที่เชื่อมต่อกับ LED จะทำงานแจ้งเตือนเมื่อหยอดเงินได้ตรงตามยอดที่ตั้งเป้าการออมไว้ และยังช่วยสำรองไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรีสำรองได้อีกด้วย”

นอกจากนี้โรงเรียนราชินี ยังคว้ารางวัลที่ 3 มาครองอีกรางวัล จากผลงานเซนเซอร์แยกขยะ โดย “น้องตาหวาน” ด.ญ.พลอยชมพู ศรีสกุลวิวัฒน์ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นม. 2 ตัวแทนทีม กล่าวว่า ใช้บอร์ด KidBright โดยอาศัยเซนเซอร์แยกขยะโลหะออกจากขยะอื่นๆ ซึ่งทีมได้แนวคิดมาจากการเห็นขยะประเภทกระป๋องน้ำอัดลม บริเวณโรงเรียนอยู่เป็นประจำ จึงคิดว่าควรนำโลหะจากกระป๋องน้ำอัดลมมารีไซเคิล

“ลักษณะการทำงาน เซนเซอร์จะทำหน้าที่แยกโลหะออกจากขยะประเภทอื่นๆ เมื่อมีการทิ้งขยะจะมี 2 ช่องในการแยกขยะโลหะ กับขยะประเภทอื่นๆ โดยเซนเซอร์จะตรวจจับโลหะจากการทิ้งขยะ เช่น กระป๋องน้ำอัดลม เมื่อเซนเซอร์ตรวจจับได้จะยกไม้กั้นขึ้นเพื่อนำขยะโลหะไปยังภาชนะรองรับ” น้องตาหวาน กล่าวว่า อยากให้เนคเทค ช่วยพัฒนาบอร์ด KidBright ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกระดับ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ออกแบบสิ่งประดิษฐ์ได้อีกขั้นหนึ่งในอนาคต

สำหรับ รางวัลที่ 2 ได้แก่ ผลงาน “การควบคุมระบบพ่นหมอกในโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าด้วย KidBright” จากโรงเรียนชิตใจชื่น โดย “น้องตอง” ด.ญ.จิตราภร จิตกุล อายุ 14 นักเรียนชั้น ม.2 ตัวแทนทีม อธิบายว่า ผลงานมีการประยุกต์ใช้ เซนเซอร์วัดความชื้นที่ใส่เข้าไปในโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า เพื่อทำการตรวจจับค่าความชื้น และส่งมาที่บอร์ด KidBright ซึ่งทำหน้าที่รับข้อมูล จากนั้นสั่งการมาที่อุปกรณ์ต่างๆ เช่น หากความชื้นไม่เพียงพอ ก็สั่งการแบบอัตโนมัติมาที่ปั๊มน้ำ เพื่อทำหน้าที่เปิด-ปิดน้ำ ทำให้ผู้พัฒนาได้เรียนรู้ว่า หากค่าความชื้นไม่ถึง 80 % จะมีการสั่งการให้พ่นน้ำไปยังโรงเรือนเพาะเห็ดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวเหมาะกับระบบเกษตรที่หลากหลาย ที่ต้องมีการรดน้ำต้นไม้โดยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามชนิดของต้นไม้ นอกจากนั้นแล้วยังประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงสัตว์ ทั้งการเลี้ยงสุกร การเลี้ยงโคนม ได้อีกด้วย

น้องตอง ยังบอกว่า นอกจากผลงานที่ได้รางวัลที่ 2 ซึ่งเป็นกำลังใจให้กับการศึกษาหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปแล้ว ยังมีความประทับใจกับการร่วมโครงการนี้อย่างมากจนทำให้เปลี่ยนทัศนคติตนเองไปอย่างสิ้นเชิง

“ตอนแรกก่อนเข้าร่วมโครงการนี้ หนูไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีเลย คิดแต่ว่า อุ้ย! คนจะสร้างเทคโนโลยีต้องเก่งระดับเทพเท่านั้นถึงจะทำได้ แต่เมื่อเข้าร่วมอบรมแล้ว พี่ๆ นักวิจัยมีการให้ความรู้เทคโนโลยี ปูพื้นฐานให้เราซึ่งเมื่อรับฟังแล้วมันไม่ยากเลย ขอแค่เรามีความตั้งใจทุกคนก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้” น้องตอง เล่าความประทับใจทิ้งท้าย

การส่งเสริมการเรียนรู้เยาวชน ผ่านเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ จึงเป็นการเปลี่ยนจินตนาการสู่ผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งน้องๆ ยังได้พิสูจน์สมมุติฐานด้วยตนเองผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สู่ผลงานที่ใช้ได้จริงอีกด้วย

7 พ.ค. 2560
0
แชร์หน้านี้: