หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 3 ฉ.2 – ผู้เชี่ยวชาญ ตปท. ยก “ไบโอเทค-สวทช.” เป็นผู้นำเทคโนโลยีชีวภาพ แนะสร้างเครือข่ายวิจัยลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์
จดหมายข่าว สวทช. ปี 3 ฉ.2 – ผู้เชี่ยวชาญ ตปท. ยก “ไบโอเทค-สวทช.” เป็นผู้นำเทคโนโลยีชีวภาพ แนะสร้างเครือข่ายวิจัยลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์
7 พ.ค. 2560
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

alt

alt

ผู้เชี่ยวชาญ ตปท. ยก ไบโอเทค-สวทช. เป็นผู้นำเทคโนโลยีชีวภาพ

แนะสร้างเครือข่ายวิจัยลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ฌ็อง-มาร์แซล ริโบท์ (Dr.Jean-Marcel Ribaut) อดีตผู้อำนวยการ Generation Challenge Program (GCP) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ Integrated Breeding Platform (IBP) จากประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพันธุ์พืชทนแล้ง เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม International Advisory Board กับคณะผู้บริหารศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

ในโอกาสนี้ ดร.ฌ็อง-มาร์แซล ริโบท์ กล่าวถึง ไบโอเทค สวทช. ว่า เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ไม่เพียงทำงานวิจัยและพัฒนาได้ดีในระดับเอเชียเท่านั้น แต่คุณภาพของงาน ยังสามารถเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีชีวภาพในระดับโลกด้วย เนื่องจากไบโอเทค สวทช. มีแนวคิดในการใช้งานวิจัยประยุกต์เชิงพาณิชย์ เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ไบโอเทค สวทช. ควรใช้โอกาสนี้แสดงความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพให้มากขึ้น โดยปรับการวิจัยให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นับเป็นโอกาสที่จะแสดงศักยภาพในการวิจัย ซึ่งเชื่อมั่นว่าไบโอเทค สวทช. ทำได้และจะส่งผลดีต่อเป้าหมายการวิจัยในปีต่อๆ ไปด้วย 

สำหรับโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง โดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว (หน่วยวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทคกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ที่ได้ริเริ่มดำเนินโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง (Molecular Rice Breeding Program for the Mekong Region) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สหภาพเมียนมาร์ และ ประเทศไทย นั้น ดร.ฌ็อง-มาร์แซล ริโบท์ ได้แสดงทัศนะ ในฐานะผู้ให้ทุนสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติ Generation Challenge Programme (ตั้งแต่ปี 2550-2555) ประมาณ 10 ล้านบาท แก่ ไบโอเทค สวทช. ว่า ขอชื่นชม ไบโอเทค สวทช. และพันธมิตรวิจัยในประเทศไทย ที่ผลักดันโครงการดังกล่าว จนประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดย ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยไบโอเทค ได้พัฒนาโครงการต่อเนื่องกับ 3 ประเทศนี้ (ลาว กัมพูชา พม่า) ทั้งการทำวิจัยปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่อง การทดสอบพันธุ์ และการอบรมให้ความรู้กับนักวิจัยในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากขึ้น ซึ่งการจัดฝึกอบรมแบบปฏิบัติจริงนี้ ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ที่ได้รับการอบรมมีความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้โมเลกุลเครื่องหมายดีเอ็นเอในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างแท้จริง สามารถนำไปปฏิบัติได้ และขณะเดียวกันได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะตรงตามความต้องการของแต่ละประเทศของผู้เข้ารับการฝึกอบรมนั้นๆ

“เรารู้สึกยินดีที่ได้เป็นผู้สนับสนุน เนื่องจากโครงการนี้ตอบสนองความต้องการในหลายๆ ด้าน ด้านหนึ่งคือการสร้างชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) แม้การฝึกอบรมจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้โมเลกุลเครื่องหมายดีเอ็นเอในการคัดเลือกให้นักปรับปรุงพันธุ์ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง แต่เนื่องจากประเทศลาว กัมพูชา และพม่า ยังขาดความพร้อมด้านเครื่องมือ และห้องปฏิบัติการด้านดีเอ็นเอ ดังนั้นประเทศไทยถือเป็นพี่ใหญ่ในด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีองค์ความรู้ในภูมิภาคนี้ การเผยแพร่ความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องทำ และผมคิดว่านี่เป็นอีกกลยุทธ์ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วย”

ดร.ฌ็อง-มาร์แซล ริโบท์ กล่าวย้ำด้วยว่า ก้าวต่อไปของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในเขตแม่น้ำโขง น่าจะเป็นการสนับสนุนด้าน Bio-infomatic เพื่อทำข้อมูลเป็นดิจิทัล ซึ่งเป็นการบูรณาการ platform วิจัยพันธุ์ หรือ Integrated Breeding Platform ที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยนักวิจัยพันธุ์พืช ให้มีระบบการบริหารงานวิจัยพันธุ์ (Breeding Management System: BMS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถบันทึกลงบนเซิร์ฟเวอร์และระบบคลาวด์ ทำให้คนในพื้นที่เพาะปลูกใช้ข้อมูลเหล่านี้ได้ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยเข้าไปช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิจัยและ นักวิจัยพันธุ์พืช เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับบุคลากรในองค์กร สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งด้านเมล็ดพันธุ์ และยังเป็นการปฏิวัติด้านการเกษตรด้วยดิจิทัล ซึ่งจะส่งเสริมให้การใช้โมเลกุลเป้าหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้การจะทำเช่นนั้นได้ต้องขึ้นอยู่กับทรัพยากรของประเทศไทยด้วย ต้องคำนึงถึงทรัพยากรในเรื่องการบริหารข้อมูล (Data Management) และเรื่องอื่นๆ ซึ่งต้องมีเพียงพอและเหมาะสม ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนักวิจัยและสำหรับประเทศไทย

7 พ.ค. 2560
0
แชร์หน้านี้: