นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงวัยมากกว่าวัยทำงานนั้น ย่อมนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สุขภาพ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงวัยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพถือเป็นสิ่งสำคัญมาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้เร่งพัฒนา “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ” งานวิจัยหนึ่งใน 5 ประเด็นมุ่งเน้น เรื่อง การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย ที่ สวทช. มุ่งดำเนินการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงวัยดำรงชีวิตอยู่ในสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
อุปกรณ์ช่วยการลุกนั่งและขึ้นลงเตียง
ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยฟื้นฟูหลังการผ่าตัดมักมีปัญหาความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะในขั้นตอนการขึ้นลงเตียง ส่วนหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจในการลุกนั่ง และกลัวการพลัดตกหกล้ม ทำให้นอนติดเตียงเป็นจำนวนมาก ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ดร.สิทธา สุขกสิ และทีมวิจัย จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุลุกนั่งและก้าวขึ้นลงเตียงได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ดร.ศราวุธ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนา “อุปกรณ์ช่วยขึ้นลงเตียงแบบปรับนั่งได้” หรือมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “BEN (เบน)” เป็นอุปกรณ์ที่มีระดับขั้นของบันไดสำหรับขึ้นลงเตียงที่มีความสูงซึ่งใช้ทั่วไปในสถานพยาบาล วิธีการใช้งาน คือ ให้ก้าวขึ้นบนที่วางเท้าขั้นเตี้ยก่อน ซึ่งจุดนี้จะมีมือจับคล้ายไม้เท้าที่ยึดอยู่กับอุปกรณ์อย่างแข็งแรงมั่นคง สามารถช่วยพยุงตัวให้การก้าวขึ้นเตียงง่ายขึ้น จากนั้นจึงค่อยๆ หมุนตัวนั่งพักบนเตียง เมื่อต้องการนั่งพักให้ก้าวขาในท่านั่งมาด้านข้างของตัวเอง ซึ่งจะมีขั้นบันไดที่สูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งได้ออกแบบไว้ให้พักเท้าได้ และสามารถค้ำยัน เขยิบตัวได้ง่ายขึ้น
พร้อมกันนี้ทีมนักวิจัยยังได้ออกแบบนวัตกรรม “เตียงตื่นตัว” เตียงกระตุ้นการลุกนั่งของผู้สูงอายุ หรือ “JOEY (โจ-อี้)” ที่สามารถช่วยกระตุ้นการลุกนั่ง ยืน เดิน ของผู้สูงอายุ โดยมีกลไกการทำงานสำหรับปรับเปลี่ยนจาก “ท่านอน” เป็น “ท่านั่ง” ในลักษณะ “พร้อมลุกยืน” ผ่านรีโมตคอนโทรลที่ได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ใช้งานได้ง่าย ตัวหนังสือและสัญลักษณ์ชัดเจน ทำให้สะดวกต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญเตียงยังสามารถปรับหมุนไปด้านซ้าย-ขวาในมุม 90 องศา ทำให้ผู้สูงอายุที่นอนอยู่ก็สามารถกดรีโมตปรับเตียงมาอยู่ในท่านั่ง และสามารถกดคำสั่งให้เตียงหมุนมาด้านข้าง เพื่อนั่งทานข้าว หรือดูทีวีได้ทันที ส่วนโครงสร้างเตียงมีความแข็งแรง ปลอดภัยต่อการใช้งานสูง นอกจากนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันที่ทำงานเชื่อมต่อกับเตียงตื่นตัวในการวัดชีพจร รวมถึงการติดตามอิริยาบถของผู้ป่วย เช่น หากชีพจรมีความผิดปกติ หรือผู้สูงอายุลุกออกจากเตียง ระบบจะมีการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลผ่านสมาร์ทโฟนทันที นับเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้เอง ลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม สร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุในการลุกขึ้นนั่งหรือยืน พึ่งพาตนเองมากขึ้น
อุปกรณ์ฝึกสมอง ชะลอปัญหาภาวะสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมเป็นปัญหาที่พบมากในผู้สูงอายุ และเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาให้หาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการลืมเลือนสิ่งต่างๆ ทำอะไรตามใจตนเอง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ซึ่งผู้ที่ดูแลนอกจากจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างมากแล้ว การพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยคงความสามารถ ด้วยการหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ เช่น การทายภาพสมาชิกใครอบครัว การเล่นเกม จะช่วยพัฒนาสมอง ฟื้นฟูความทรงจำได้มากขึ้น
ทีมวิจัย นำโดย ดร.สิทธา ได้พัฒนา ผ้ากระตุ้นสมอง ที่เรียกง่ายๆ ว่า “AKIKO (อะ-กิ-โกะ)” ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยเป็นผ้าห่มที่ทำจากผ้าไทย มีความสวยงาม เนื้อผ้าอ่อนนุ่ม เวลาผู้สูงอายุสัมผัสเนื้อผ้าจะรู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ หรือบางครั้งเวลาที่ผู้สูงอายุหงุดหงิด เมื่อได้จับหรือสัมผัสผ้า จะช่วยให้รู้สึกว่าได้คลายความหงุดหงิด ลดความเครียด และความกระวนกระวายใจ นอกจากนี้ AKIKO ยังถูกออกแบบให้มีช่องใส่รูปภาพ หรือกลิ่นหอมต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความคุ้นเคยของผู้สูงอายุ ซึ่งนำมาทำเป็นเกมช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและความทรงจำที่ดีให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ ปัจจุบันแพทย์ นักจิตวิทยา และนักกิจกรรมบำบัดจากโรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันประสาทวิทยา ได้เข้ามาร่วมคิดค้น ออกแบบเกมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
ดร.สิทธา กล่าวว่า ทีมวิจัยยังได้พัฒนา เกมฝึกสมอง หรือ MONICA (โม-นิ-ก้า) เป็นเกมฝึกสมองสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อม เพื่อให้มีสมาธิมากขึ้น มีความจำที่ดีขึ้น โดยเกมจะไปช่วยกระตุ้นสมองส่วนต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้งาน ทั้งในเรื่องความจำ การตัดสินใจ การมองเห็นและตอบสนองต่างๆ รวมถึงการใช้ภาษา โดยตัวเกม MONICA จะประกอบด้วยส่วนของโปรแกรมและปุ่มกดที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ การทำงานของเกมจะมีให้เลือกความยากง่าย เน้นการใช้ภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ซึ่งตัวอย่างเกม เช่น การให้เปรียบเทียบภาพปัจจุบันกับภาพก่อนหน้าว่าเหมือนหรือต่างกัน หากเหมือนกันให้กดเครื่องหมายถูก หากต่างกันให้กดเครื่องหมายผิด เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุเล่นเกมผ่าน ก็จะมีความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความรู้สึกมั่นใจในการทำอะไรหรือตัดสินใจได้ดีขึ้น
นับเป็นนวัตกรรมดีๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถพึ่งพาตนเองมากขึ้น ไม่รู้สึกเป็นภาระต่อครอบครัว อีกทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ ผู้ดูแล และครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ
เรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช.