หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.9 – สวทช. รักษ์โลก เปิดตัว “ถุงขยะย่อยสลายได้”

จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.9 – สวทช. รักษ์โลก เปิดตัว “ถุงขยะย่อยสลายได้”

13 ธ.ค. 2562
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

สวทช. รักษ์โลก เปิดตัว “ถุงขยะย่อยสลายได้”

นับวันขยะพลาสติกจะเป็นปัญหาที่รุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผ่านมามีการผลิตพลาสติกเพื่อใช้งานบนโลกนี้แล้วกว่า 8,800 ล้านตัน ซึ่งกว่าร้อยละ 40 เป็นขยะพลาสติกใช้งานเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง และร้อยละ 88 ของขยะพลาสติกทั้งหมดถูกกำจัดโดยการฝังกลบ เผา ทิ้งลงแม่น้ำและไหลสู่ทะเล สร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและกำลังย้อนกลับมาสร้างปัญหากับมนุษย์

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร พัฒนา “ถุงพลาสติกย่อยสลายได้” ซึ่งเป็นการคิดค้นสูตรเม็ดพลาสติกคอมพาวด์สำหรับการผลิตต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่สามารถขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้เป็นครั้งแรกของประเทศ โดยมีวัตถุดิบหลักเป็นมันสำปะหลังที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย และมีการนำไปใช้งานจริงแล้วในงานกาชาดประจำปี 2562

ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ฝีมือนักวิจัยไทย      

ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัย MTEC อธิบายถึงแนวคิดในการทำวิจัยว่า ที่ผ่านมาการผลิตถุงพลาสติกย่อยสลายได้ในประเทศมีต้นทุนสูง เพราะต้องอาศัยการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพพร้อมขึ้นรูปหรือคอมพาวด์ (Compound) จากต่างประเทศ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้สามารถผลิตถุงพลาสติกย่อยสลายได้เอง จึงมีการรวมตัวของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำเพื่อทำวิจัยร่วมกัน ทั้งผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลัง ผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพ นักวิจัย และผู้ผลิตในส่วนเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติก เพื่อให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาจับต้องได้

“จุดเด่นของถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่พัฒนาขึ้นคือ มีการนำเอาแป้งจากมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจไทยมาเป็นส่วนประกอบหลักสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งมากกว่าถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทั่วไป นอกจากมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายตัวเองของพลาสติกแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้มากอีกด้วย ทั้งนี้ในการผลิตได้ลดจุดอ่อนในเรื่องการละลายน้ำของแป้งมันสำปะหลังลง ด้วยการใช้เทคนิคทวินสกรูว์เอกซ์ทรูชัน (Twin screw extrusion) ในการหลอมส่วนผสมเข้ากับเม็ดพลาสติกชีวภาพอีก 2 ชนิด PLA และ PBAT ในสัดส่วนและอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้ได้ออกมาเป็นเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ที่มีความเหมาะสมแก่การขึ้นรูปด้วยกระบวนการเป่าเป็นถุงพลาสติก ตอบโจทย์ทั้งความยืดหยุ่น เหนียว แข็งแรง และย่อยสลายได้เร็วภายใต้ภาวะที่มีความชื้นและจุลินทรีย์ที่เหมาะสม โดยไม่ต้องใช้สารเคมีอันตรายเป็นส่วนผสม ทุกขั้นตอนการผลิตใช้เครื่องจักรพื้นฐานที่มีการใช้งานภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปใช้ผลิตเพื่อจำหน่ายได้ง่าย”

จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ทีมวิจัยพบว่าหากมีการนำไปฝังในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม ถุงพลาสติกชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลา 3 – 4 เดือน โดยมีจุลินทรีย์ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย แต่หากนำไปฝังในพื้นที่จัดการขยะซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า คาดว่าจะสามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น คือภายในเวลา 3 เดือนหรือน้อยกว่านั้น โดยในการคิดค้นถุงพลาสติกย่อยสลายได้ครั้งนี้ นักวิจัยมีความตั้งใจที่จะนำไปใช้ลดปัญหาการคัดแยกหรือการจัดการขยะอินทรีย์

“ถุงพลาสติกชนิดนี้มีเป้าหมายในการใช้กำจัดขยะอินทรีย์ เพราะขยะอินทรีย์เป็นขยะที่มีปริมาณมากถึงร้อยละ 65 ของปริมาณขยะทั้งหมด ซึ่งมักไม่ได้รับการคัดแยกเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี ทำให้เกิดการปนเปื้อนและลดมูลค่าของขยะรีไซเคิลลง ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกก่อนทิ้ง และสามารถกำจัดได้อย่างปลอดภัย ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ชนิดนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้กำจัด เพราะเมื่อทั้งถุงและขยะอินทรีย์เกิดการย่อยสลายรวมกันจนเสร็จสิ้นแล้ว จะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารอนินทรีย์ และชีวมวล ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนสำคัญในการปลูกพืชให้กับเกษตรกรได้”

ประเดิมใช้งาน “ถุงพลาสติกย่อยสลายได้” ในงานกาชาดสีเขียว

จากความสำเร็จในการคิดค้นสูตรการผลิต “ถุงพลาสติกย่อยสลายได้” ได้เปิดตัวให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทดลองใช้แล้ว ใน “งานกาชาดประจำปี 2562” ระหว่างวันที่ 15–24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการจัดงานภายใต้แนวคิดกาชาดสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีภาคอุตสาหกรรมผู้ร่วมทำวิจัยและสนับสนุนการผลิตเพื่อให้เกิดการทดลองใช้จริง บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การสนับสนุนแป้งมันสำปะหลัง บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ให้การสนับสนุนเม็ดพลาสติกชีวภาพ และ บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกย่อยสลายได้

ภายในงานมีถุงพลาสติกสำหรับใช้ทิ้งขยะอินทรีย์ให้บริการ 2 ขนาด คือ ขนาด 18 x 20 นิ้ว สำหรับให้บริการตามร้านขายอาหาร และขนาด 30 x 45 นิ้ว สำหรับให้บริการตามจุดทิ้งขยะทั่วงาน จำนวนรวม 23,800 ใบ น้ำหนักรวม 1.5 ตัน โดยมีอาสาสมัครประจำทุกจุดทิ้งขยะเพื่ออธิบายการทิ้งอย่างถูกวิธีให้กับผู้เที่ยวชมภายในงาน และคณะวิจัยจะดำเนินงานติดตามผลการจัดการขยะจริงต่อเนื่องเป็นเวลาอีก 3 เดือน เพื่อยืนยันผลการใช้และนำไปปรับปรุงพัฒนาผลงานต่อไป

สำหรับต้นทุนในการผลิตถุงพลาสติกมาใช้ในงานกาชาดครั้งนี้ เนื่องจากมีการผลิตจำนวนไม่มากจึงมีราคาเทียบเท่ากับที่จำหน่ายในต่างประเทศ คือ ถุงพลาสติกขนาดเล็ก 18 x 20 นิ้ว ความหนา 35 ไมครอน มีราคาใบละ 4 บาท ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ 30 x 45 นิ้ว ความหนา 60 ไมครอน มีราคาใบละ 30 บาท แต่ ดร.นพดล ได้อธิบายถึงกลไกทางการตลาดว่า “หากในอนาคตประชาชนมีความต้องการใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้มากขึ้น จะทำให้มีผู้ผลิตมากขึ้น และราคาถุงจะลดลงจนเป็นราคาที่จับต้องได้มากกว่านี้

          ดร.นพดล กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถุงพลาสติกย่อยสลายได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เราได้มีโอกาสเลือกใช้พลาสติกได้อย่างเหมาะสม ลดการใช้พลาสติกที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก และยังสามารถนำขยะรีไซเคิลกลับไปใช้ประโยชน์อีกครั้งตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) หากทุกคนช่วยกันลดการสร้างขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดมลภาวะจากต้นทาง และมีการจัดการกับขยะอย่างถูกวิธีจนสามารถเปลี่ยนแปลงทั้งระบบได้ ก็จะสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

แชร์หน้านี้: