สุดยอดไอเดียเด็กไทย!
มนุษย์อวกาศญี่ปุ่นเลือกไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ
8 ก.ย. 59 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA) แถลงข่าวผลการคัดเลือกสุดยอดไอเดียการทดลองวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย คือ “การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ (Capillary in Zero gravity)” ส่งให้กับมนุษย์อวกาศญี่ปุ่นทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กไทยเจ้าของไอเดียร่วมเป็นสักขีพยานชมการทดลองสดที่ญี่ปุ่น ในวันที่ 14 กันยายน 2559
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ Japan Aerospace Exploration Agency (แจ็กซา) จัดทำโครงการ Asian Try Zero-G 2016 เปิดรับแนวคิดการทดลองวิทยาศาสตร์จากเยาวชนไทย เพื่อส่งให้มนุษย์อวกาศญี่ปุ่น นายทะกุยะ โอะนิชิ เลือกนำไปใช้ทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยในโครงการมีเยาวชนในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก จาก นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ปากีสถาน เป็นต้น ให้ความสนใจส่งไอเดียการทดลองวิทยาศาสตร์เข้าร่วมจำนวน 28 เรื่อง ซึ่งทางแจ็กซาได้คัดเลือกไอเดียของเด็กไทยจำนวน 1 เรื่อง โดยจะนำขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ในวันที่ 14 กันยายน นี้ คือ “การทดลอง (Capillary in Zero gravity)” ผลงานของ นายวรวุฒิ จันทร์หอม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” ซึ่งกระทรวงฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการสนับสนุนพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของเด็กไทยให้มีความทัดเทียมกับนานาประเทศ และเป็นกำลังสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อไปในอนาคต
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สวทช. องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนามีนโยบายให้การสนับสนุนเยาวชนในการพัฒนาความรู้ด้าน วทน. ซึ่งในแต่ละปีจะมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการของ สวทช. เป็นจำนวนมาก สำหรับโครงการนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ข้อเสนอโครงการของเยาวชนไทยได้รับการคัดเลือกจากแจ๊กซา คือ “การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ (Capillary in Zero gravity)” พร้อมกับข้อเสนอโครงการของเยาวชนอีก 4 เรื่องจาก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ด้วยความร่วมมือในระดับนานาชาติที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี แจ็กซาจึงได้เปิดโอกาสให้เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการเข้ารับชมการถ่ายทอดสดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่น จากสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center) ในวันพุธที่ 14 กันยายน 2559 และมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตรการฝึกมนุษย์อวกาศระยะสั้น 1 วัน อีกด้วย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกการที่แจ็กซาเปิดโอกาสดังกล่าว และการที่เยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการคิดและค้นคว้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้จากการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะการทดลองนี้ไม่สามารถทำได้บนพื้นโลก
นายวรวุฒิ จันทร์หอม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของไอเดียการทดลอง “Capillary in Zero gravity” กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทดลองนี้มาจากการทำ Lab ในห้องเรียน ซึ่งผมสังเกตว่าของเหลวที่อยู่ในภาชนะที่มีลักษณะเป็นหลอด ผิวของน้ำจะมีลักษณะแตกต่างกัน บางผิวมีลักษณะเว้าขึ้น บางผิวมีลักษณะเว้าลง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการอ่านข้อมูล ผมจึงเริ่มหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการทดลองในครั้งนี้ และพบว่าความเว้านูนของน้ำขึ้นอยู่กับแรง adhesive และ cohesive ซึ่งในสมการจะมีแรงเนื่องจากแรงโน้มถ่วงอยู่ในสมการ ผมจึงสงสัยว่าถ้าทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก ลักษณะของผิวของเหลวจะเป็นอย่างไร โดยการทดลองจะนำของเหลวต่างชนิดกันมาบรรจุในเข็มฉีดยา (Plastic syringe) จากนั้นสังเกตผิวของของเหลวแล้วนำมาเปรียบเทียบกับการทดลองบนโลก
“ผมรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากครับ ที่การทดลองของผมได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ของการทดลองในปีนี้ และเป็นประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่ได้เข้าร่วมโครงการกับองค์กรระดับโลกอย่าง JAXA ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เอาข้อสันนิฐานไปพิสูจน์และผลจากการทดลองไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงครับ” นายวรวุฒิ จันทร์หอม กล่าว
ทั้งนี้สามารถติดตามการเดินทางเพื่อร่วมชมการทดลองแบบ Real time ที่ญี่ปุ่นของเด็กไทย และติดตามข้อมูลโครงการ Try Zero-G 2016 ได้ที่ https://www.facebook.com/NSTDASpaceEducation