สวทช. จัดกิจกรรมทำความดีถวายพ่อหลวง
“นวัตกรรมทำเองได้ DIY Spacer อุปกรณ์พ่นยาโรคหืด” จำนวน 99 อัน
ส่งมอบให้ชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ
2 ธันวาคม 2559 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี – เนื่องในโอกาสครบ 50 วัน แห่งการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บุคลากร สวทช. ได้ร่วมทำกิจกรรม “ทำความดีถวายพ่อหลวง” ด้วยการเชิญชวนจิตอาสามาร่วมทำอุปกรณ์พ่นยาโรคหืด DIY Spacer จำนวน 99 อัน เพื่อส่งมอบให้กับผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุผ่านทางชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ
“อุปกรณ์พ่นยาโรคหืด DIY Spacer” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการคิดค้นของทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคหืดจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ โดยผลงานวิจัยนี้ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน และนำไปใช้ได้จริงในการรักษาผู้ป่วยมาแล้ว และยังได้รับการการันตีด้วยรางวัลจากทั้งในและต่างประเทศมากมาย
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนกูล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โรคหืด เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม และหลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะหดเกร็งตัวแคบลง เยื่อบุภายในหลอดลมบวมขึ้น และสร้างเมือกเหนียว ทำให้ช่องทางเดินอากาศในหลอดลมแคบลง และเกิดอาการหอบหืด คือ หายใจหอบ เหนื่อย หายใจไม่เต็มอิ่ม บางรายต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือนอนโรงพยาบาล และในบางรายอาจเสียชีวิตได้ โดยปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคหอบหืดประมาณ 5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 1,000 คน ซึ่งการเสียชีวิตดังกล่าวนี้ สามารถป้องกันได้ หากมีการใช้ยาที่เหมาะสม และการใช้อุปกรณ์พ่นยา DIY Spacer ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนการเสียชีวิตของผู้ป่วย และช่วยลดการสูญเสียรายได้ของประเทศ
“สำหรับหัวใจสำคัญของอุปกรณ์ Spacer คือ ต้องมีวาล์วปิดเปิด โดยวาล์วจะเปิดเมื่อเด็กสูดหายใจเอาตัวยาเข้าไป แต่เมื่อเด็กหายใจออกวาล์วจะต้องปิด เพื่อไม่ให้ลมหายใจที่ปล่อยออกมาไปรวมกับตัวยาในกระบอก ซึ่ง Spacer ที่วางขายในท้องตลาดจะมีวาล์วปิดเปิดลักษณะเหมือนไดอะแฟรม เป็นแผ่นบางๆ แต่สำหรับ DIY Spacer ทีมวิจัยเอ็มเทคนำลิ้นวาล์วในอุปกรณ์สูบน้ำด้วยมือหรือไซฟ่อนปั๊ม มาเป็นตัวควบคุมทิศทางการไหลของลมหายใจให้ไปทางเดียว เวลาเราบีบหัวไซฟ่อนปั๊ม น้ำจะถูกดันไปยังภาชนะหนึ่ง เมื่อปล่อยมือจากหัวไซฟ่อนปั๊มน้ำก็ถูกดูดขึ้นมาไว้ที่หัว พอบีบใหม่น้ำที่ถูกดูดขึ้นมามันจะไม่ไหลกลับไปทางเดิมเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ทำให้น้ำไหลไปทางเดียวกันในแต่ละจังหวะการบีบและคลาย เราจึงนำมาใช้ทำหน้าที่เหมือนวาล์วควบคุมทางเดินอากาศ เวลาสูดหายใจเข้า ตัวยาก็จะไหลเข้าปอด เวลาหายใจออก อากาศจะไหลออกทางช่องเปิดด้านบน ไม่ไหลกลับเข้าไปผสมกับยา”
สำหรับการทำอุปกรณ์ DIY Spacer ทำได้ง่าย โดยตัวกระบอกพ่นยา ใช้ขวดน้ำขนาด 500 มิลลิลิตร มาเจาะรูที่ปลายกระบอก เพื่อเป็นช่องสำหรับใส่อุปกรณ์พ่นยา ส่วนปากขวดน้ำนำมาต่อกับลิ้นปิดเปิดที่ได้มาจากที่สูบน้ำด้วยมือ เพื่อบังคับทิศทางการหายใจ สุดท้ายคือการนำส่วนหัวของขวดน้ำขนาดใหญ่ เช่น ขนาด 2 ลิตร มาตัดให้เข้ากับรูปหน้าของผู้ป่วย แล้วนำสายท่อลมยางซิลิโคนมาหุ้มขอบเพื่อลบความคมของขอบรอยตัด และทำให้นุ่มนวลกับหน้าของผู้ป่วยเมื่อใช้งาน ส่วนปากขวดนำมาต่อกับลิ้นปิดเปิดอีกด้านหนึ่ง เท่านี้ก็จะได้อุปกรณ์พ่นยาโรคหอบหืดที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยใช้เวลาในการทำต่อชิ้นไม่เกิน 10 นาที เท่านั้น
ปัจจุบัน อุปกรณ์ DIY Spacer สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์พ่นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้เปิดรับจิตอาสาในการทำอุปกรณ์เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นจิตอาสา หรือผู้ป่วยที่ต้องการขอรับอุปกรณ์สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ โทร. 02-926-9999
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nstda.or.th/th/news/4985-diy-spacer