หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.9 – บทความ กลุ่มสตาร์ทอัพไทย กวาดรางวัลการประกวดนวัตกรรมที่กรุงโซล
จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.9 – บทความ กลุ่มสตาร์ทอัพไทย กวาดรางวัลการประกวดนวัตกรรมที่กรุงโซล
19 ธ.ค. 2559
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

alt

กลุ่มสตาร์ทอัพไทย กวาดรางวัลการประกวดนวัตกรรมที่กรุงโซล

สวทช. และ สสว. นำผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพไทย 18 บริษัท เข้าร่วมประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับสากล ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และคว้ารางวัล Grand Prize 1 รางวัล พร้อมกับ 5 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน 5 เหรียญบรอนซ์ และ Special

alt

เมื่อวันที่ 1-4 ธันวาคม 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ (Startup Voucher) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) นำผู้ประกอบการไทย 18 บริษัท กับ 19 ผลงาน เข้าร่วมการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับสากลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ในงาน “Seoul International Invention Fair 2016” (SIIF 2016) 

ผลการประกวดปรากฏว่า ผลงานจากประเทศไทยสามารถคว้าสุดยอดรางวัล Grand Prize 1 รางวัล พร้อมกวาดอีก 5 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน 5 เหรียญบรอนซ์ และ Special Prize 3 รางวัล จากเวที ชี้ผลงานสตาร์ทอัพไทยได้เป็นอย่างดีว่าได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดดเด่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีศักยภาพนำสู่ตลาดสากล  

alt

เวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ระดับสากล “Seoul International Invention Fair 2016” (SIIF 2016) นี้ จัดขึ้นโดย The Korea Invention Promotion Association (KIPA) โดยการประกวดผลงานครั้งนี้ โครงการ Startup Voucher เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเช่าพื้นที่บูธแสดงผลงาน ค่าที่พัก ค่าเดินทางระหว่างที่พักและที่จัดงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ค่าโปสเตอร์ตกแต่งบูธเพื่อให้เป็นรูปแบบทิศทางเดียวกัน ให้แก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย และที่สำคัญ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีได้ใช้ความเชี่ยวชาญมากว่า 14 ปี ในการให้คำแนะนำในการประกวดแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาดสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ผลงานนวัตกรรมของสตาร์ทอัพไทย ประสบความสำเร็จและได้แสดงศักยภาพที่โดดเด่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลงานเป็นที่ยอมรับในเวทีและตลาดระดับสากล พร้อมกันนี้ยังตอบโจทย์ของรัฐบาลอีกด้วย

ทั้งนี้ ภายในงานมีนักวิจัย และนักประดิษฐ์จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา นานาประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและแสดงผลงานจำนวน 639 ผลงาน จาก 31 ประเทศ โดยผู้ประกอบการไทยทั้ง 18 ราย 19 ผลงานในโครงการ Startup Voucher ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานรวมทั้งสิ้น 21 รางวัล จาก 18 ผลงาน โดยผลงานไฮไลต์ ได้แก่ รางวัล Grand Prize 1 รางวัล ของบริษัท สยามโนวาส จำกัด กับผลงานน้ำเชื้อแช่แข็งคัดเพศ เพื่อใช้ในการผสมเทียมโคนมและโคเนื้อเพื่อเพิ่มจำนวนลูกโคเพศเมีย ส่วนรางวัลอื่นๆ มีดังนี้ 

เหรียญทอง 5 รางวัล ได้แก่

1. บริษัท ดีไลฟ์ ซินเนอร์จี้ จำกัด ผลงานน้ำยาป้องกันการเกิดฝ้าจากสารลดแรงตึงผิวชีวภาพ

2. บริษัท ทีดีเอช เพรสทิจเจียส เดอร์มาโทโลจิ จำกัด ผลงานผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด ชนิดแรกและชนิดเดียวในโลกที่ใช้อนุภาคนาโนแคลเซียมคาร์บอเนต

3. บริษัท โปร-ทอยส์ จำกัด ผลงานระบบ MATRIX BROADCAST ถ่ายทำวิดีโอคุณภาพสูง 360 

4. บริษัท เวทโปรดักส์ รีเซิร์ช แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ผลงานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสุกรช่วยประสิทธิภาพของแม่สุกรในเล้าคลอด เพิ่มน้ำหนักครอกเฉลี่ยของลูกสุกร (ADLWG)

5. บริษัท วินน์ โกลบอล กรุ๊ป จำกัด ผลงานเครื่องประดับจากไข่มุกที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยกระบวนการแสงซินโครตรอน

เหรียญเงิน 7 รางวัล ได้แก่

1. บริษัท วายเอ็มเอ็มวาย จำกัด ผลงาน QueQ ระบบการจองคิวแบบใหม่ผ่าน Mobile Application จองได้ไม่ต้องไปหน้าร้าน

2. บริษัท จีไอบี เทรดดิ้งจำกัด ผลงานวัคซีนพืช ที่เป็น Green Product ผลิตจากฮิวมัสและสาหร่ายใช้ได้กับพืชทุกชนิด ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

3. บริษัท ดรีมมิโอ จำกัด ผลงานระบบในการจัดการบริหารงานอีเวนท์ ที่เน้นไปที่ประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้จัดงานและผู้ออกบูธ

4. บริษัท ไพอาร์สแควร์ ผลงานระบบบริหารจัดการคิวออนไลน์ ร้านค้าหรือบริการที่ติดตั้งระบบ QHappy สามารถเปิดให้จองคิวออนไลน์ ผ่าน mobile application

5. บริษัท สมุนไพรบ้านอาจารย์ จำกัด ผลงานฟีนูแคป พลัส ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเพิ่มน้ำนม สำหรับคุณแม่หลังคลอด เเละยังช่วยบรรเทาอาการในโรคของระบบทางเดินอาหาร

6. บริษัท ไอเว็ท (ประเทศไทย) จำกัด #1 ผลงานชุดกายอุปกรณ์อเนกประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง วีลแชร์ และชุดช่วยพยุงน้ำหนักช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของหรือสถานพยาบาลสัตว์

7. บริษัท เพียวแอลอีดี จำกัด ผลงาน Pure LED Smart Wireless Network Lighting Control ระบบควบคุมแสงสว่าง สามารถปรับค่าความสว่างให้เหมาะสมกับเวลา ความต้องการใช้งานในแต่ละพื้นที่

เหรียญบรอนซ์ 5 รางวัล ได้แก่

1. บริษัท เลนส์ แอนด์ สมาร์ทคลาสรูม จำกัด ผลงานอุปกรณ์ที่เปลี่ยนให้กล้องของสมาร์ทโฟนถ่ายรูปเห็นรายละเอียดขนาดเล็กเหมือนกล้องจุลทรรศน์

2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรีนกู๊ดดีส์ โปรดักท์ ผลงานโลชั่นทำความสะอาดผลิตจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีการปรับโครงสร้างทางเคมีให้มีคุณลักษณะพิเศษทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการกำจัดคราบหนักต่างๆ 

3. บริษัท ไอเว็ท (ประเทศไทย) จำกัด #2 ผลงานลู่วิ่งในน้ำ IVET Aqua Treadmill เป็นลู่วิ่งสายพานที่สามารถทำงานในน้ำได้ สำหรับการกายภาพบำบัดสัตว์ 

4. บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด ผลงานบริการรับชำระค่าสินค้า และบริการ ผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต รูดบัตรได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต

5. บริษัท ไพร์ม นาโนเทคโนโลยี จำกัด ผลงานผลิตภัณฑ์สเปรย์เพื่อการขจัดและป้องกันกลิ่นเหม็นอับในกางเกนยีนส์ สเปรย์ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์

alt

 

Special Prize 3 รางวัล ได้แก่

1. บริษัทโปร-ทอยส์ จำกัด ผลงานระบบ MATRIX BROADCAST ถ่ายทำวิดีโอคุณภาพสูง 360 ได้รับ Special Prize จากประเทศเวียดนาม

2. บริษัท ทีดีเอช เพรสทิจเจียส เดอร์มาโทโลจิ ผลงานผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดไวส์เซ่ ชนิดแรกและชนิดเดียวในโลกที่ใช้อนุภาคนาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ได้รับ Special Prize จากประเทศรัสเซีย

3. บริษัท วินน์ โกลบอล กรุ๊ป จำกัด ผลงานเครื่องประดับจากไข่มุกที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยกระบวนการแสงซินโครตรอน ได้รับ Special Prize จากประเทศมาเลเซีย

งาน SIIF เป็นงานแสดงและประกวดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ภายในงานประกอบด้วยส่วนแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์งานจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ส่วนแสดงสินค้าของบริษัทเอกชน และส่วนแสดงผลงานจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัล SIIF Prize สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ลงทะเบียนประกวดในงานอีกด้วย โดยงาน SIIF 2016 ใช้ COEX Hall A เป็นพื้นที่ในการจัดแสดง 639 ผลงาน โดยมีประเทศที่เข้าร่วมแสดงในงานทั้งสิ้น  31 ประเทศ การประกวดผลงานแบ่งเป็น 16 ประเภท อาทิ ประเภท Mechanics / Engines / Machinery / Tools / Industrial process / Metallurgy ประเภท Computer science / Software / Electronics / Electricity Methods of Communication หรือประเภท Building / Architecture / Civil Engineering /Construction / Materials / Woodwork เป็นต้น

19 ธ.ค. 2559
0
แชร์หน้านี้: