(วันที่ 16 กันยายน 2567) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรและกล่าวแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวรายงานพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นักประดิษฐ์และนักวิจัย โอกาสนี้ ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เข้าร่วมงานและแสดงความยินดีกับนักวิจัย สวทช. ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เวทีระดับนานานาชาติเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานและแสดงศักยภาพในการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยต่อสายตาชาวโลก ตลอดจนผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ ทำให้ไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในเวทีระดับนานาชาติ ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้สนับสนุนโครงการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เวทีระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยทำหน้าที่เสนอชื่อและคัดเลือกผลงานจากประเทศไทยสู่เวทีการประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยรวมทั้งสร้างความร่วมมือกันทุกภาคส่วน
“ขอชื่นชมและขอเเสดงความยินดีกับความสำเร็จ ซึ่งทุกท่านถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทย และขอฝากให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็ง และร่วมกันพัฒนาประเทศของเราให้ยั่งยืนต่อไป” นางสาวศุภมาส กล่าว
ด้าน ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า พิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยไปร่วมประกวดแข่งขันและได้รับรางวัลสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติ ที่ วช. ได้ดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องและสอดรับกับพันธกิจของ วช. ประการสำคัญ คือ การให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรมและการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม โดย วช. ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจเสนอชื่อของประเทศไทยที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรด้านการประดิษฐ์คิดค้นจากนานาประเทศ ด้วยการเปิดรับสมัครพิจารณากลั่นกรอง และคัดเลือกผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากประเทศไทยไปร่วมประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ นอกจากนี้ วช. ได้แสวงหาพันธมิตรใหม่ ๆ จากการนำทีมนักประดิษฐ์และนักวิจัยร่วมประกวดแข่งขัน เพื่อให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้แสดงศักยภาพของตนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และก้าวทันเทคโนโลยีของโลก เพื่อนำมาพัฒนาผลงานของไทยให้ตอบโจทย์สอดรับ ทันยุค ทันสมัย ก่อเกิดประโยชน์และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในวันนี้ได้เห็นถึงความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากการประกวด รวมจำนวนทั้งสิ้น 385 ผลงาน จาก 7 เวทีระดับนานาชาติ ประกอบด้วย
- เวที The International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน จำนวน 4 รางวัล และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 16 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 42 รางวัล และเหรียญทองแดง จำนวน 31 รางวัล
- เวที ITEX 2024 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล ITEX 2024 Best Invention Award International และ ITEX 2024 Best Invention Award Individual ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 41 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 29 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 2 รางวัล
- เวที INTARG® 2024 ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล Platinum Award และรางวัล Diamond Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่เหรียญทองจำนวน 25 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 11 รางวัล
- เวที Shanghai 2024 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 41 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 10 รางวัล
- เวที JDIE 2024 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 49 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 20 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 4 รางวัล
- เวที WoSG 2024 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล World Champion ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 18 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 9 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 6 รางวัล
- เวที IID 2024 ณ บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล Grand Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 14 รางวัล เหรียญเงิน จำนวน 9 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 4 รางวัล
ทั้งนี้ในจำนวนรางวัลดังกล่าวมีทัพนักวิจัยจาก สวทช. เข้ารับรางวัล ประเภทต่าง ๆ ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทอง ได้แก่
1.ผลงาน: การพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างฟิล์มชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีเทนจากน้ำเสียที่มีความเค็มสูง โดย ดร.เบญจพร สุรารักษ์ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และคณะ
2. ผลงาน: ระบบผลิตก๊าซชีวภาพประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ โดย ดร.วรินธร สงคศิริ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และคณะ
รางวัลเหรียญเงิน ได้แก่
- ผลงาน: ชุดไฮโดรไซโคลนสำหรับเพิ่มความเข้มข้นและลดสิ่งเจือปนในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดย ดร.กาญจนา แสงจันทร์ และคณะ
- ผลงาน: วัสดุนิ่มสำหรับการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลที่สามารถปรับแต่งคุณสมบัติได้เพื่อใช้ทางการแพทย์โดย ดร.รวิภัทร มณีโชติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
รางวัลเหรียญทองแดง ได้แก่
- ผลงาน: ReverZase Regenerate Serum เวชสำอางชะลอวัยจากอนุภาคสารออกฤทธิ์พลับพลึงไทย(ReverZase™) จัดการเซลล์แก่และเสาหลักสภาวะชรา เพื่อการฟื้นฟูผิวสูงสุด โดย ดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี
- ผลงาน: นวัตกรรมอุปกรณ์ตรวจปริมาณแคลเซียมจากเศษเล็บเพื่อการประเมินภาวะสมดุลแคลเซียมและความเสี่ยงโรคกระดูก โดย นางสาวสุนทรี กริชชัยศักดิ์
นอกจากนี้ยังอีก 2 รางวัลเหรียญทอง โดย ดร. เบญจรัตน์ บรรเทิงสุข จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ได้รับทั้ง 2 เหรียญทอง ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่
- ผลงาน: “อิโวลิทอล ยีสต์สายพันธุ์ใหม่ Cyberlindnera fabianii ที่ผ่านการพัฒนาด้วยกระบวนการวิวัฒนาการที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไซลิทอล” รางวัลร่วมกับ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. เบญจรัตน์ บรรเทิงสุข นางสาวเกดสุดา เอี้ยววิริยะสกุล และนางสาววิภาวี ศรีทัศนีย์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศช. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หทัยกาญจน์ เลกากาญจน์ และนางสาวภาวรินทร์ บลทอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผลงาน: โอลิโกไรซ์: มอลโตโอลิโกไซรัปจากข้าวสายพันธุ์ไทย รางวัลร่วมกับ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หทัยกาญจน์ เลกากาญจน์ นางสาวดารัณ โปร่งจิต และนางสาวมธุรดา เพียหอม