For English-version news, please visit : NSTDA and partners to implement an e-commerce education and training as part of workforce development program
ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนามาตรฐานสมรรถนะด้านการใช้อีคอมเมิร์ซ ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และธนาคารออมสิน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะกำกับดูแลสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ การพัฒนามาตรฐานสมรรถนะด้านการใช้อีคอมเมิร์ซ ของทั้ง 5 หน่วยงาน
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นบทเรียนสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดในการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ ทุกคน ทุกภาคส่วนปรับตัว ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน การดำเนินธุรกิจ และชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ซึ่ง E-Commerce หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้เข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างชัดเจน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลและรวดเร็ว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตรงตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาประเทศ ให้ทันต่อบริบททางเศรษฐกิจและสังคม ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นภาพความร่วมมือครั้งสำคัญ ที่ทำให้เกิดการสร้างโอกาสใน 3 ประเด็นหลักสำคัญ คือ สร้างโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้ทันต่อสถานการณ์ สร้างโอกาสในการพัฒนาคนปลุกพลังในตัวให้สร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมต่าง ๆ และการสร้างความร่วมมือที่ทำให้เกิดความเป็นรูปธรรมในการพัฒนาประเทศ ที่ทั้ง 5 หน่วยงานซึ่งมีความแตกต่างกันในภารกิจหลัก แต่สามารถรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล และยังเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เปิดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพคนไทยไปสู่สังคมฐานความรู้ ยกระดับกำลังคน และรายได้ รวมทั้งยกระดับทรัพยากรฐานรากในการพัฒนาประเทศด้วย
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. รองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า สวทช. รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ งานของมูลนิธิฯ เน้นในเรื่องของการส่งเสริมการเรียน การสอน และการวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมการพัฒนา และช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงการหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 20 ปี คือโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) ตามพระราชดำริฯ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ไอซีทีในการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาแก่โรงเรียนชนบทในโครงการจำนวนประมาณ 80 โรงเรียน
ในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา หรือประมาณตั้งแต่ปี 2559 มูลนิธิฯ ได้ริเริ่ม “โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ ในกลุ่มโรงเรียน ทสรช.” เนื่องจากเห็นว่า โรงเรียนในโครงการ ทสรช. ส่วนใหญ่จะมีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ มีการส่งเสริมให้นักเรียนทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นการฝึกอาชีพและจำหน่ายสินค้าเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ระหว่างเรียน แต่ส่วนใหญ่ช่องทางการจำหน่ายสินค้า มักจำกัดเฉพาะพื้นที่ เช่น วางขายในร้านสหกรณ์หรือร้านค้าในโรงเรียน ออกบูธแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของนักเรียน ฝากขายกับร้านในตัวเมือง หรือวางจำหน่ายที่ศูนย์โอทอป เป็นต้น ซึ่งทาง สวทช. และกรรมการมูลนิธิได้พิจารณาว่า ถ้านำไอซีทีมาช่วย คือใช้ระบบการจำหน่ายแบบอีคอมเมิร์ซ จะช่วยเพิ่มช่องทางการขาย และทำให้สินค้าของโรงเรียนเป็นที่รู้จักและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น สวทช. มูลนิธิเทคโนโลยีสารสเทศตามพระราชดำริฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในการดำเนินงาน“โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ ในกลุ่มโรงเรียน ทสรช.” ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนด้านการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และสามารถประยุกต์ใช้ไอซีทีในการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าของโรงเรียนหรือชุมชน เกิดการสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียน และ/หรือนักเรียน ครอบครัว ชุมชน ได้ต่อไป
โครงการเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2559 มีโรงเรียนนำร่อง 5 แห่ง จากนั้นได้ขยายผลไปยังโรงเรียนต่างๆ จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 39 แห่ง นอกจากนี้ ได้ขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มอื่นของมูลนิธิฯ ได้แก่ เรือนจำ/ทัณฑสถาน จำนวน 23 แห่ง โดยได้จัดกิจกรรมการอบรม และส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมได้ลงมือปฏิบัติจริง มีการจำหน่ายสินค้าและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมถึงปรับแผนการตลาดอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานพบว่าหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างร้านค้าออนไลน์ จำหน่ายสินค้าที่ผลิตจากฝีมือนักเรียน ชุมชน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ของผู้ต้องขังได้ โดยในปี 2562 มียอดขายรวมเป็นเงิน 1,714,341 บาท
ในปี 2563 นอกจากการพัฒนาสมรรถนะด้านอีคอมเมิร์ซให้แก่ผู้เรียนและจัดกิจกรรมต่อยอด เช่น ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับหน่วยงานในโครงการแล้ว แล้วยังมีการส่งส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีโอกาสได้ทดสอบความสามารถ เพื่อจะได้รับการรับรองสมรรถนะบุคคลด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce Skill) ตามมาตรฐานของประเทศ และสามารถใช้ประโยชน์เป็นพื้นฐานในการต่อยอดประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรของโรงเรียนในโครงการ ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถานนำร่อง และ ยังจะขยายไปยังกลุ่มเยาวชนในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจำนวน 10 แห่ง อีกด้วย
ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และธนาคารออมสิน จึงเป็นที่มาของการที่ สวทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงที่จะร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย โดยในส่วนของ สวทช. และมูลนิธิฯ จะมุ่งเน้นการสนับสนุนให้กับกลุ่มเป้าหมายของมูลนิธิฯ คือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสดังกล่าวข้างต้น และในโอกาสนี้ใคร่ขอขอบคุณสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นเครือข่ายการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยได้ต่อไป