หน้าแรก สวทช. ผนึกกำลัง สพฐ และ สสวท. ส่งเสริมเยาวชนให้เป็นนวัตกร สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เข้าถึงชุมชน และมีหัวใจรักสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์
สวทช. ผนึกกำลัง สพฐ และ สสวท. ส่งเสริมเยาวชนให้เป็นนวัตกร สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เข้าถึงชุมชน และมีหัวใจรักสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์
17 มิ.ย. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา (ป.6) เพื่อส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาเยาวชนผ่านกระบวนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยใช้แนวคิดของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเน้นการผสมผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 3 – 4 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีครูจำนวนกว่า 200 คนเข้าร่วมการอบรม
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ได้บรรยายให้ความรู้ความเข้าใจ และแรงบันดาลใจเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมนวัตกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ระดับโรงเรียนตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG โดยใช้ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

จากนั้นจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ จุดประกายการเรียนรู้แบบสืบเสาะและแนวทางการค้นพบคำตอบผ่านวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ โดยใช้กระบวนการและวิธีการศึกษาอย่างมีระบบ เป็นขั้นตอน มีการวางแผนที่ชัดเจน ปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ จนได้ข้อสรุปหรือผลสรุปที่เป็นคำตอบในเรื่องนั้น ๆ และเรียนรู้เรื่องตัวแปรและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการทำสไลม์

ครูผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้และฝึกทดลองกับโครงงานตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกอย่าง “พลังงานลม” วิธีการนำพลังงานลมมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้า ครูได้ทดลองประดิษฐ์กังหันลม ฝึกการเปรียบเทียบลักษณะของใบพัดที่มีผลต่อการหมุนและผลต่อการเกิดกระแสไฟฟ้า ใช้กระบวนการทางโครงงานวิทยาศาสตร์ในการออกแบบและพัฒนาใบพัดให้รับลม สามารถหมุนแกนแม่เหล็กภายในเจเนอเรเตอร์จนเกิดกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่ต้องการได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด

กิจกรรมพลาสติกแปลงร่าง เป็นกิจกรรมการทดลองทำพลาสติกชีวภาพจาก “น้ำนม” การทดลองเปลี่ยนตัวแปรต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ปริมาณ เป็นต้น รวมถึงวิธีการใช้ประโยชน์พลาสติกที่เหมาะสม การแยกประเภท และการนำกลับมาใช้ประโยชน์

และปิดท้ายด้วยกิจกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งจะทำให้เกิดมีความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การฝึกทักษะทดลองวิทยาศาสตร์ ปรับตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน นำไปสู่การออกแบบแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติ โดยการค้นคว้าและสร้างสรรค์นวัตกรรมจากธรรมชาติที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างรายได้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ความคิดเห็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม

นายธัชวุฒิ กงประโคน ครูโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ได้แนวคิดและแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในยุคปัจจุบันอย่างมีคุณภาพและมีความสุข กิจกรรมมีความทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับนักเรียนในยุคปัจจุบัน เช่น กิจกรรมทำสไลม์ มีการกำหนดตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้ทดลองและเกิดแนวคิดหลากหลายในการเลือกใช้อุปกรณ์และสารเคมีในชีวิตประจำวันที่อยู่รอบตัว ตลอดจนได้สัมผัสถึงวิธีการจัดการเรียนรู้ของวิทยากรของ สวทช. ในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเกิดความน่าเชื่อถือ
างสาววราพร ศิริฤกษ์ ครูโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กิจกรรมของ สวทช. มีความสนุกและเหมาะสม ใช้จัดการเรียนการสอนได้จริง วิทยากรให้เทคนิคการสอนที่ทำให้ผู้เข้าอบรมเกิดความสนุก อยากรู้อยากเห็น เป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมในห้องเรียนได้ดี ตัวอย่างเช่น กิจกรรมพลังงานลม เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่ม ได้แลกเปลี่ยนแนวคิด มีการคิดเป็นขั้นตอน ได้ร่วมกันวางแผนและดำเนินการตามรูปแบบที่วางแผนไว้ ทำให้เข้าใจวิธีการหาความรู้ด้วยการทำโครงงาน และที่สำคัญรูปแบบของการจัดกิจกรรมกระตุ้นให้อยากพัฒนาผลงานของตนเอง เพราะมีการแข่งขัน
นางดวงฤทัย ประเสิรฐสังข์ ครูโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมมีความน่าสนใจ วิทยากรให้ความรู้อย่างเต็มที่ กระตุ้นครูให้เรียนรู้อย่างเร้าใจ ทำให้ครูได้ความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ครูมาที่ร่วมอบรมมีหลายสาขาทำให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน ชอบกิจกรรมพลังงานลม เพราะมีความท้าทาย ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำชิ้นงาน โดยใช้หลักการเรียนรู้ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
นางเพ็ญศิริ ภูมิสายดร ครูโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาลัย จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าว่า ประทับใจวิทยากรที่มีความเป็นกันเอง ดำเนินกิจกรรมได้ชัดเจนเป็นลำดับขั้นตอน ให้ความรู้และจัดกิจกรรมเพื่อที่จะให้ครูไปใช้ในกิจกรรมชุมนุม กิจกรรมมีความแปลกใหม่ อย่างเช่น กิจกรรมพลาสติกแปลงร่าง เป็นกิจกรรมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนและสามารถนำไปสู่โครงงานที่น่าสนใจของเด็ก ๆ ได้หลายแนวทาง
นายชิตพงษ์ เหนือเกาะหวาย ครูโรงเรียนวัดเขียนเขต จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมกับครูผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันคือส่งเสริมและพัฒนานักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้แลกเปลี่ยนความคิด แนวทางการจัดการเรียนรู้ และแก้ไขปัญหาในสภาพจริง ได้เรียนรู้กิจกรรมจาก สวทช. และจะนำกลับไปจัดกิจกรรมกับนักเรียนในวิชาชุมนุม นอกจากนี้จะนำกิจกรรมการทดลองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไปใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและผลกระทบจากโลกร้อนอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
17 มิ.ย. 2567
0
แชร์หน้านี้: