For English-version news, please visit : NSTDA and Sumitomo Mitsui Banking Corporation establish partnership to strengthen research and human resource development to advance BCG agenda
(วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายทาคาชิ โตโยดะ ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (Sumitomo Mitsui Banking Corporation: SMBC) สาขากรุงเทพฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยได้รับเกียรติจาก นายเคนทาโร นากาอิ เลขานุการเอกด้านดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ด้านอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยาน
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีระหว่าง สวทช. และ SMBC โดยสวทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบความมุ่งมั่นของเรา เราปรับตัวให้เข้ากับวาระการพัฒนาที่สำคัญของประเทศ รวมถึงโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) แผนแม่บท AI แห่งชาติ (the National AI Masterplan) และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (the Eastern Economic Corridor)
ทั้งนี้ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในงานวิจัยสาขาต่าง ๆ ของ สวทช. ดำเนินงานใน 5 สาขาเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล วัสดุ นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีพลังงาน (Biotechnology, Digital, Materials, Nanotechnology and Energy Technology) ตลอดจนกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างการแก้ไขปัญหาให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายและสังคมโดยรวม สวทช. จึงตระหนึกถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับพันธมิตรว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว อาจไม่ช่วยให้เรานำเสนอการแก้ไขปัญหาของเราได้อย่างเต็มศักยภาพ เราต้องการพันธมิตรที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของอุตสาหกรรมและชุมชน ให้ความเชื่อมโยง ตลอดจนจัดหากลไกสนับสนุน เช่น คำแนะนำทางธุรกิจ การสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุน
“เรามีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ SMBC ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการแก้ปัญหาระดับโลกที่มีชื่อเสียง และมีเครื่องมือทางการเงินและบริการสนับสนุนที่หลากหลาย รวมถึงทุ่มเทอย่างลึกซึ้งในการเสริมสร้างความสำเร็จของธุรกิจของลูกค้า ได้ตัดสินใจที่จะกระชับความร่วมมือให้ดียิ่งขึ้นกับพวกเรา อย่างไรก็ดีด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ เราให้คำมั่นที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ SMBC ในการประสานและเสริมสร้างจุดแข็งและความสามารถร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ทั้งไทยและญี่ปุ่น” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
นายทาคาชิ โตโยดะ ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (Sumitomo Mitsui Banking Corporation: SMBC) สาขากรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ครั้งนี้เพื่อแสดงความร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุน บริษัทของประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่ง SMBC เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของญี่ปุ่นที่ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สวทช.
ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ดังกล่าว SMBC จะแนะนำลูกค้าที่กำลังพิจารณาขยายธุรกิจในประเทศไทยให้กับ สวทช. โดย SMBC จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาการวิจัยและพัฒนา การสรรหาบุคลากร การพัฒนาบุคลากรและทำงานร่วมกับ สวทช. เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ผ่านการจัดสัมมนา
“ในปี 2566 ถือเป็นวันครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นในฐานะธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่น การจัดทำ MOU นี้เราต้องการที่จะเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้มากขึ้น และมีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านความร่วมมือกับ สวทช. ทั้งนี้ SMBC ในฐานะสถาบันการเงินญี่ปุ่น เรามีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสานต่อกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินกิจการของบริษัทญี่ปุ่น และมีส่วนช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพเพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย”