สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล” ในวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2567 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนและนักศึกษาในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 50 คน
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. เป็นตัวแทนต้อนรับในพิธีเปิดการอบรม ได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) เพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยกล่าวว่า “การพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลไม่เพียงแต่จะช่วยให้เยาวชนมีความรู้ความสามารถในสาขาที่มีความสำคัญต่อการทำงานและอาชีพในอนาคต แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนและสังคมได้จริง และเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน โดยในครั้งนี้ได้เน้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งเชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่นของจังหวัดปทุมธานี”
ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดกิจกรรมค่าย และเสริมถึงความร่วมมือที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สวทช. โดยกล่าวว่า ” ในการจัดกิจกรรมนี้ เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ สวทช. เรามีอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูลของเราที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเป็นวิทยากร เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้กับเยาวชนและผู้เข้าร่วมกิจกรรม เราหวังว่าความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป”
ตลอดทั้งสองวันของการอบรม ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ข้อมูลจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ โดย ผศ.ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมงานบริษัท ดิจิทัลสโตร์เมช จำกัด ซึ่งได้มาให้ความรู้และหลักการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนในการเตรียมข้อมูล การนำเข้าข้อมูล การใช้โปรแกรมประมวลผลข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาในรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากการบรรยายและการฝึกปฏิบัติในห้องเรียน ผู้เข้าร่วมยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ได้แก่ ต.บึงบา อ.หนองเสือ และ ต.กระแชง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เพื่อเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ใน 3 มิติได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร และนำข้อมูลเหล่านั้นกลับมาฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ในห้องเรียน โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ล้ำสมัย (AI) และ Large Language Model (LLM) รวมถึงการสร้าง Knowledge Graph สำหรับการใช้งานใน LLM และวิธีการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการจัดการข้อมูลนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และแสดงผลออกมาเป็นแผนผัง และแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้แทนชุมชน ได้แก่ ผู้แทนเทศบาลเมืองท่าโขลง ผู้แทนเทศบาลเมืองคลองหลวง ผู้แทนเทศบาลตำบลคลองสาม ผู้แทนเทศบาลตำบลหนองเสือ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกร Young Smart Farmer และผู้แทนกลุ่มธุรกิจ เข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะผลงานของนักเรียนและนักศึกษา กิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้กับผู้เข้าร่วม แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิชาการ นักศึกษา และชุมชน เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
จากนั้น ดร.ขุนเสก เสกขุนทด ผู้แทนประเทศไทยโครงการ GYSS (Global Young Scientists Summit) ได้มีการบรรยายในหัวข้อ “เส้นทางอาชีพนักวิจัยทางด้าน Data Science” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นภาพการทำงานของอาชีพนักวิจัยด้านข้อมูลในยุคปัจจุบันและแนวโน้มความต้องการบุคลากรรด้านนี้ในอนาคต
ความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้
นายวริศ พงษ์ชัยศรี นักเรียนระดับชั้น ม.4 โรงเรียนสายปัญญารังสิต ประทับใจวิทยากรที่มาให้ความรู้และได้ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี รวมถึงการได้ลงมือฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง และได้ค้นหาความชอบและความถนัดของตัวเอง เพื่อการศึกษาต่อหรือการเลือกอาชีพในอนาคต | |
นางสาวบุษปวัน แดงฉ่ำ นักเรียนระดับชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ปทุมธานี ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประทับใจวิทยากรและพี่เลี้ยง สอนได้เข้าใจ ใจดี และใจเย็นมาก | |
นายภาคภูมิ มากบุญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กิจกรรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การนำข้อมูลไปดำเนินการ และการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ | |
นางสาวสุทธินันท์ ทวีผล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |