หน้าแรก วศ. จับมือ วว.และ สวทช. เปิดเวทีเสวนาวิชาการ “ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด” มองภาพอนาคตตอบโจทย์ประเทศ
วศ. จับมือ วว.และ สวทช. เปิดเวทีเสวนาวิชาการ “ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด” มองภาพอนาคตตอบโจทย์ประเทศ
26 ส.ค. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

26 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานเสวนา เรื่อง “ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด”

จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่านระบบ ZOOM Online และ Facebook Live เพื่อสอดคล้องกับนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้าฯ สป.อว.

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือหลายหน่วยงานในสังกัด อว. อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง “เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างอนาคต” บรรยากาศงานจะทำให้ทุกท่านได้รับความรู้ ความเข้าใจ ด้านประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการความเชื่อมโยงในการพัฒนาองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และสามารถมองภาพอนาคตประเทศไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของกระทรวง อว. ในฐานะเป็นกระทรวงแห่งความรู้ ศิลปะวิทยาการ ผสมผสานทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้เปิดเวทีเสวนา เรื่อง “ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแลกเปลี่ยนบันทึกประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ที่รวมถึงการเรียนรู้อดีตที่ผ่านมาของหน่วยงาน ภารกิจความรับผิดชอบสำคัญ เรื่องราวที่พบเจอวิวัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย จนถึงสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 โดยในช่วงแรกประกอบด้วย 3 ศูนย์แห่งชาติ คือ 1 ไบโอเทค มุ่งเน้นงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวกับพืชและสัตว์เศรษฐกิจเป็นหลัก 2 เนคเทค มุ่งเน้นงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และ 3 เอ็มเทค มุ่งทำงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ โลหะ ยาง เป็นต้น แม้ในช่วงแรกนั้น สวทช. ยังไม่ค่อยได้ทำงานวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์มากนัก จนกระทั่งในปี 2539 เนคเทคได้เริ่มจัดทำโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระนามในขณะนั้น) และต่อมาได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จัดทำโครงการนำร่อง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ” ในปี 2543 เพื่อส่งเสริม วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ให้คนพิการได้รับโอกาส มีความเท่าเทียมกันในสังคม สามารถพึ่งพิงตนเองได้ และลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

สวทช. มีการพัฒนา ยาต้นแบบ P218 สำหรับรักษาโรคมาลาเรีย จากคณะผู้วิจัยไบโอเทค สวทช. นำโดย ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาวิจัยกลไกยาต้านมาลาเรียกลุ่มแอนติโฟเลตมาตั้งแต่ปี 2540 กระทั่งปี 2547 ประสบความสำเร็จค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนที่มาลาเรียสร้างขึ้น ซึ่งนำมาสู่การต่อยอดพัฒนายาต้นแบบ P218 ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียทั้งสายพันธุ์ที่ไวต่อยาและดื้อต่อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปี 2555

นอกจากนี้ สวทช.ยังพัฒนา เดนตีสแกน DentiiScan เทคโนโลยีขั้นสูงที่ช่วยให้เห็นความสูง ความหนา และความกว้างของกระดูกขากรรไกร รวมทั้งคลองเส้นประสาทอย่างชัดเจน ทันตแพทย์สามารถวางแผนก่อนการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบันมีการติดตั้งใช้งานในโรงพยาบาลแล้ว 57 เครื่อง ใน 42 จังหวัด

ทั้งนี้ สวทช. ได้วิจัยพัฒนาและสั่งสมองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยมีการบูรณาการความรู้ในหลากหลายสาขาเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ซึ่ง สวทช. ได้ใช้องค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนมาตั้งแต่ปี 2547 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนก H5N1 ไบโอเทค สวทช. ได้มอบหมายให้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. เร่งศึกษาเทคโนโลยีด้าน Reverse Genetics ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสร้างไวรัสจากสารพันธุกรรมในหลอดทดลองโดยไม่ต้องแยกไวรัสออกมาจากผู้ป่วย เพื่อใช้เป็นแนวทางการผลิตวัคซีนในประเทศไทย

“จากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 และการศึกษาไวรัสโคโรนา เชิงลึกเพื่อนำวัคซีนในสุกร ได้กลายเป็นฐานทุนที่นำมาสู่การพัฒนาต้นแบบ วัคซีนต้นแบบป้องกันโรคโควิด-19 แบบพ่นจมูก เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ได้สำเร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอ อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อทดลองในมนุษย์ต่อไป” ผอ. สวทช. กล่าวทิ้งท้าย

ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการย่อย ผลงานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดย วศ. แสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ยุคแรกๆ ได้แก่ สมุดบันทึกการทดลองของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม คู่มือเภสัชกรรมหรือคู่มือวิชาการ Handbuch Der Pharmakognosie ไฮโดรมิเตอร์ ระฆังตีนอกเวลาเรียนสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ และเครื่องโรเนียวบัตรรายการ เป็นต้น ทั้งนี้สวทช. ได้แสดงผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านการแพทย์

อาทิ ต้นแบบวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 แบบพ่นจมูก (Adenovirus -based  และ Influenza-based) , ชุดตรวจ NANO COVID-19 Rapid Test, ชุดตรวจ COXY-AMP, สราตั้งต้น (API) สำหรับ Favipiravir, n-SPHERE หมวกแรงดันบวกและแรงดันลบ เป็นต้น ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ นำไปปรับใช้ประโยชน์ ต่อยอดงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในอนาคต

26 ส.ค. 2564
0
แชร์หน้านี้: