อว. โดย สกสว.- สวทช. โชว์วิสัยทัศน์พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “Offset Policy เครื่องมือสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น”
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องคริสตัล 3-4 ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย รศ. ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “Offset Policy เครื่องมือสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น” และ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ บรรยายพิเศษ เรื่อง “Offset Policy มาตรการสร้างความร่วมมือและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย” และมี ทีมนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “แนวปฏิบัตินโยบายการชดเชยกับการสร้างความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ อันเกิดจากการจัดซื้อขนาดใหญ่ของภาครัฐ : กรณีศึกษาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมระบบรางไทย” มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัยของภาครัฐ และบริษัทเอกชน ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานกลางที่ดูแลด้าน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เข้าร่วมรับฟัง
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ภายในงานยังมีการเสวนาพิเศษ เรื่อง “Offset Policy เครื่องมือสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น” โดยมี รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการหน่วยภารกิจยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) การพัฒนาเศรษฐกิจไทย สกสว. กล่าวถึงแนวทางการจัดสรรงบประมาณ ววน. และเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้เกิดการกำหนดกิจกรรมชดเชยในโครงการภาครัฐและสนับสนุนผู้ประกอบการเอกชน นาวาอากาศเอก สุรพงษ์ ศรีวนิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารอากาศ บอกเล่าถึงที่มาที่ไป แรงผลักดันในการกำหนด Offset ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ว่าเป็นเรื่องที่กองทัพอากาศให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด และ นาวาเอก ชัยยุทธ์ คลังเงิน รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ บอกเล่าถึงประสบการณ์และแนวทางการใช้ Offset ต่อการสร้างประโยชน์และพัฒนาประเทศ คุณอดิศร สิงหกาญจน์ วิศวกรอำนวยการศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แสดงความเห็นต่อความเป็นไปได้ในการใช้การชดเชยในการจัดซื้อรถไฟ คุณศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เน้นย้ำถึงประโยชน์และโอกาสของภาคเอกชนหากรัฐมีการดำเนินนโยบาย Offset อย่างจริงจัง และ คุณบุษรา ลำพูน นักวิชาการคลังชำนาญการพิเศษ กองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กล่าวถึงแผนและแนวทางการผลักดันเรื่องนี้ในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะออกเป็นกฎกระทรวงภายใต้กระทรวงการคลัง
รศ. ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า นโยบายการชดเชย หรือ Offset Policy เป็นมาตรการกำหนดเงื่อนไขให้โครงการภาครัฐที่ซื้อจากต่างประเทศและมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องกำหนดกิจกรรมการชดเชย ซึ่งที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยมีนโยบายนี้เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 และมอบหมาย สกสว. สอวช. และกรมบัญชีกลาง ไปจัดทำแนวปฏิบัติและยกร่างกฎระเบียบรองรับการดำเนินนโยบาย โดยมี สวทช. เป็นหน่วยศึกษาวิจัย ซึ่งถือเป็นกลไกใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากการที่รัฐต้องลงทุนจัดซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ให้สามารถสร้างความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐให้เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเปิดโอกาสให้เอกชนมีโอกาสเข้าร่วมในการเป็นผู้รับการดูดซับความรู้ เทคโนโลยี และกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยตรง เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เป็นมาตรการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ “เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม” มาสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน และเอกชนเป็นผู้เล่นหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ
“เรื่องนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ช่วยสนับสนุนในการนำไปออกกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนกลไกสู่ภาคปฏิบัติ และปลดล็อคปัญหาในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศของระบบราชการให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามระเบียบ ตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส และปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมไทยเป็นผู้ซื้ออย่างเดียว เป็นการเป็นผู้ซื้ออย่างชาญฉลาด สามารถใช้โครงการมูลค่าสูงต่อรองให้เราได้ประโยชน์ในเรื่องที่ไทยมีน้อย หรือยังขาดด้วย ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ เอกชนไทย สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต้องเร่งพัฒนาตนเอง ซึ่งอาจร่วมมือกันเป็นองคาพยพในการระดมทรัพยากรต่าง ๆ ให้พร้อมเป็นผู้รับการถ่ายโอนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยีเป้าหมายอย่างเข้มข้นและจริงจังด้วย ผลจากการศึกษาปรากฏให้เห็นชัดว่า การมีหน่วยทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่อง Offset Policy เป็นการเฉพาะเป็นเรื่องที่ประเทศจำเป็นต้องมี เพื่อให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศ โดยมีระบบติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลตลอดจนการดำเนินงานแล้วเสร็จ” รศ.ดร.นพพร กล่าว
ดร.บัญชา ดอกไม้ และคุณวทัญญู พุทธรักษา นักวิจัยโครงการ สวทช. กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะต่อการจัดทำคู่มือ หลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติ และผลการศึกษาศักยภาพของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย ซึ่งพบได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเข้าข่ายเหมาะสมต่อการใช้นโยบายการชดเชย (Offset) มากที่สุด อันเป็นการสร้างความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณในการยกระดับการพัฒนาประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น
คุณดารารัตน์ รัชดานุรักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย สวทช. กล่าวว่า จากข้อเสนอผลการศึกษาในโครงการนี้คาดหวังว่า ประเทศไทยจะมีคู่มือแนวปฏิบัติประกอบการดำเนินนโยบายการชดเชย (Offset Policy) ของประเทศ สำหรับการนำไปใช้พิจารณาประกอบการออกกฎ ระเบียบที่มีผลบังคับใช้และปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐจะมีข้อมูลสถานภาพและศักยภาพของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมระบบรางไทย