หน้าแรก สวทช. จับมือ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ นำ AI ต่อยอดข้อมูลรัฐสภาไทย หนุนภารกิจภาครัฐ พัฒนาบริการประชาชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สวทช. จับมือ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ นำ AI ต่อยอดข้อมูลรัฐสภาไทย หนุนภารกิจภาครัฐ พัฒนาบริการประชาชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5 ส.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(5 สิงหาคม 2567) ณ อาคารรัฐสภา : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัลข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ และสนับสนุนการทำงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

โอกาสนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศาสตรจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ในการนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และนายศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช. ร่วมลงนามเพื่อเป็นสักขีพยาน โดยภายในงานยังมีคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงาน ร่วมพิธี

โอกาสนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และกล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจาก สวทช. ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นตัวจริงในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรมีการตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะตระหนักดีว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สภาฯ นอกจากจะเป็นสถานที่ในการออกกฎหมายแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสภาฯ เพื่อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ในส่วนของสภาฯ เอง มีคลังข้อมูลขนาดใหญ่คือ คลังข้อมูลนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็น ร่างรัฐธรรมนูญ รายงานของคณะ กมธ. รายงานการประชุม ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่าเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และการต่อยอดในอนาคต แต่ศักยภาพของมนุษย์เองยังใช้ข้อมูลเหล่านี้ในจำนวนที่จำกัด หากมีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยก็จะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เป็นอย่างมาก และในแง่ของบุคลากรเองจะได้นำศักยภาพไปทำงานด้านที่จำเป็นในการใช้ทักษะของมนุษย์ วันนี้เป็นโอกาสอันดีสำหรับความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น รายละเอียดในบันทึกความตกลงร่วมกันฯ มีความละเอียดรอบคอบและมีความเป็นรูปธรรมในการเปิดเผยข้อมูล การเก็บรักษาข้อมูล มีการกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายรับผิดชอบประสานงานในฐานข้อมูลร่วมกัน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในฐานะเลขานุการร่วมในการดำเนินงานและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสังคมของประเทศ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบ AI โดยมีเป้าหมายสร้างความเข้าใจและความตระหนักด้านจริยธรรมในการใช้ AI อย่างน้อย 6 แสนคน มีกฎหมาย/ข้อบังคับด้าน AI ที่จำเป็น (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI เพื่อให้เกิดการลงทุนด้าน AI เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี (3) ด้านกำลังคน AI มีเป้าหมายผลิตกำลังคน AI 3 หมื่นคน (4) ด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม AI ตั้งเป้าสร้าง 100 นวัตกรรม AI ที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ 4.8 หมื่นล้านบาท และ(5) ด้านการส่งเสริมธุรกิจและการใช้ AI โดยมีการใช้นวัตกรรม AI ใน 600 หน่วยงานทั่วประเทศ จากเป้าหมายดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ได้ประกาศนโยบาย “อว. For AI” ที่พร้อมเดินหน้าทำงานทันทีใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. AI workforce development: การพัฒนาบุคลากรด้าน Al และการสร้างพื้นฐานด้าน Al ให้คนไทย ในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน 2. AI for lifelong learning: AI เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนา AI Coach and Kru ให้มีแพลตฟอร์มสนับสนุนการเรียนรู้ทุกช่วงชีวิต 3. AI innovation: การสนับสนุนนวัตกรรม Al สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลาย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย

ความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนให้เห็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาต่อยอดข้อมูลภาครัฐและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ประเทศชาติ และประชาชน โอกาสนี้ สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สั่งสมประสบการณ์วิจัยและพัฒนามากว่า 20 ปี ในเบื้องต้นเตรียมนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาสนับสนุนภารกิจของสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ‘OpenThaiLLM’ แบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) ที่ตอบสนองความต้องการด้านการประมวลผลภาษาไทย และ ‘DocChat’ เครื่องมือ AI ที่สามารถสรุปสาระสำคัญของเอกสาร ตั้งประเด็นคำถามที่น่าสนใจโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถพูดคุยตอบโต้หรือตั้งคำถามกับเอกสารที่กำหนดได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยอาศัยความสามารถด้านการประมวลภาษาไทยจาก ‘OpenThaiLLM’ ทั้งนี้ข้อมูลของรัฐสภาจะเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้ตอบโจทย์ภารกิจของสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้นำข้อมูลภาครัฐไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ การบริการประชาชน และการพัฒนาทุกภาคส่วนของสังคม

 

 

แชร์หน้านี้: