กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, ศูนย์วิทยาการและวิศวกรรมข้อมูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จัดกิจกรรม “AI Innovation JumpStart Batch3: Pitching Online” เวทีของการนำเสนอผลงานโดยไม่มีการแข่งขัน เนื่องจากทั้ง 22 ทีมนี้ได้ผ่านการคัดเลือก และได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช. ทีมละ 100,000 บาท มาแล้วจากผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 100 ผลงาน ทั้งนี้เพื่อผลักดันสู่สตาร์ทอัพชั้นนำและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่การเติบโตของธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งในการนำเสนอครั้งนี้ยังมีรางวัล Popular Vote จำนวน 3 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท และทีมที่ได้รับรางวัลได้แก่ ทีม Easykid Robotic : GREETINGS | REGISTRATION | QUEUE |INFORMATION , ทีม I-mango : AI คัดมะม่วง มะม่วงคุณภาพด้วย AI และ ทีม ThaiHand AI : Automated Monitoring and Control with Robot and AI for Greenhouse
ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. กล่าวว่า การนำเสนอผลงานต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ในโครงการ AI Innovation JumpStart นี้เพื่อส่งเสริมการสร้างต้นแบบนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด มีผู้ใช้งานจริง และสามารถขยายผลได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์และสามารถเติบโตไปเป็นธุรกิจได้ในอนาคต
ซึ่งโครงการนี้ได้จัดทำติดต่อกันมาเข้าปีที่ 3 พบว่าความสนใจในการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการเทคโนโลยีมีจำนวนมาก และเมื่อโครงการเพิ่มจำนวนทุน ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการมากกว่า 250% โดยมีอัตราการเติบโตและอยู่รอดเพิ่มขึ้น 60-70% มูลค่าการลงทุนและผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งปีแรก (2562) มูลค่า 54 ล้านบาท และในปีนี้ (2564) มีมูลค่า 241 ล้านบาท คิดเป็น มากกว่า 400% ที่โครงการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สามารถยกระดับทักษะบุคลากรในด้านระบบอัจฉริยะและหุ่นยนต์ เน้นด้าน AI Engineering & Robotics จำนวน 201 คน ทั้งสิ้น 10 วิชา พร้อมติดตามการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมต่อไป
ในปีนี้ แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จากการดำเนินงาน ก็พบว่าไม่ได้เป็นปัญหาหลักในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมอีกทั้งเราสามารถพัฒนาศักยภาพบุคลากรทักษะสูงด้วยระบบออนไลน์
ด้าน ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวแสดงความ ชื่นชมในความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้เข้าร่วมโครงการที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ นำประสบการณ์ ความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ เพื่อยกระดับ/ปรับเปลี่ยนความสามารถของผลิตภัณฑ์และบริการ ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศชะลอตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศของเรากำลังก้าวกระโดดในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้มีศักยภาพ และเป็นไปตามแนวโน้มความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก สร้างนวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และอุตสาหกรรมอนาคต อีกทั้งยังให้ความสําคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานให้สามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้
ผู้เข้าร่วมโครงการจะนำเสนอต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และระบบอัจฉริยะ โดยเร่งพัฒนาให้เป็น Tech Startup โดยสามารถนำต้นแบบนวัตกรรมดังกล่าวนี้ ไปต่อยอดที่ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้งเน้นการวิจัยพัฒนาเพื่อนำไปสู่เชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน