(วันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2567) ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับ APEC Policy Partnership on Science, Technology and Innovation (PPSTI) และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “AI in Atmospheric Corrosion Assessment to Address Climate Change Impact” ซึ่งดำเนินการโดยทีมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและซ่อมบำรุง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ เอ็มเทค กล่าวต้อนรับ ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 6 เขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม นิวซีแลนด์ และประเทศไทย 10 ท่าน ตัวแทนจาก 5 เขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เปรู และประเทศไทย 10 ท่าน และผู้ร่วมสัมมนาจากประเทศไทย 45 ท่าน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของโครงสร้างเหล็กและอายุการใช้งานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น องค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะ Machine Learning จึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการทำนายอัตราการกัดกร่อนในสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากเครื่องมือนี้มีการใช้ในกลุ่มสมาชิกเอเปค ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อควบคุมการกัดกร่อนจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการที่ได้รับทุนจากกรอบความร่วมมือด้านนโยบายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอเปค(APEC-PPSTI) นับเป็นกลไกที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถและองค์ความรู้ในด้านดังกล่าว ให้กับผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียระหว่างสมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า เอ็มเทคมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่มาร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ และริเริ่มความร่วมมือใหม่ ๆ ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้เข้าร่วมทุกท่านจะใช้โอกาสนี้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์ และมุมมองกับวิทยากร เกี่ยวกับแนวทางการศึกษาการกัดกร่อนโดยใช้ AI และ Machine Learning เป็นเครื่องมือในการจัดการ ตลอดจนหารือความร่วมมือในด้านอื่นต่อไปในอนาคตในกรอบที่กว้างขึ้น
กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายด้านเทคโนโลยีการทำนายอัตราการกัดกร่อนในบรรยากาศร่วมกับการประเมินผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ การระดมสมองเพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือวิจัย การแสดงผลงานวิจัยการใช้งานเซนเซอร์วัดการกัดกร่อน และการวางแผนการดำเนินการในอนาคตเพื่อผลักดันการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดังกล่าวในการลดความเสี่ยงของการกัดกร่อน พร้อมยืดอายุโครงสร้างเหล็ก
ในโอกาสนี้คณะนักวิจัยเอ็มเทคและ Prof. Junhua Dong จาก Institute of Metal Research, the Chinese Academy of Sciences (IMR, CAS) สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยที่ได้รับทุนจาก CAS-NSTDA Joint Research Program เรื่อง “การติดตามการกัดกร่อนด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าโดยใช้เซนเซอร์แบบสองขั้วและจำลองการเรียนรู้พฤติกรรมการกัดกร่อนในบรรยากาศชายทะเลประเทศจีนและไทย” แก่ผู้ร่วมงานในรูปแบบการบรรยาย และการสาธิตการใช้งานเซนเซอร์พร้อมกับการสร้างแบบจำลองการเรียนรู้ชุดข้อมูลตามหลักการ Machine Learning ในการประชุมฯ ด้วย