For English-version news, please visit : End of Waste Thailand Seminar presents opportunities for Thai industry to go green
(วันที่ 8 มิถุนายน 2566) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และโปรแกรม ITAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา End of Waste Thailand โอกาสและการผลักดันสู่ความสำเร็จ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมตามหลักการ End of Waste ซึ่งมีผู้ประกอบการกว่า 60 บริษัทเข้าร่วมงาน
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การสัมมนา “End of Waste Thailand โอกาสและการผลักดันสู่ความสำเร็จ” ที่จัดขึ้นครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความสำคัญ ในหลักการ End of waste และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยการนำงานวิจัยและพัฒนาที่หน่วยงานวิจัยมีองค์ความรู้ ประสบการณ์ หรือ ผลงานพร้อมใช้อยู่แล้วสู่การประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว เพื่อส่งเสริมผลักดันให้เกิดกฎระเบียบ หรือการปลดล็อคสู่การสิ้นสุดความเป็นของเสีย (waste) ให้ได้มากที่สุดและเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการร่วมกันทำวิจัยเพิ่มมูลค่าให้กับกากของเสียอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และสามารถผลักดัน End of Waste Thailand ให้เกิดขึ้นได้ในเร็ววัน
![]() |
![]() |
“สวทช. มีทิศทางการทำงานวิจัยเพื่อผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายภาครัฐ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แนวทาง Enhancing Waste Utilization with Industrial Symbiosis (IS) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนของเสีย (waste) จากอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปสู่การเป็นวัตถุดิบ (materials) ให้อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง เป็นแนวทางในการทำวิจัยของ สวทช. มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยนักวิจัยได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของ สวทช.”
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อน End of waste Thailand จะสำเร็จลุล่วงได้ ต้องอาศัยจากความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ หน่วยงานรัฐผู้กำหนด กฎระเบียบ กติกา โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานวิจัย โดย สวทช. ทั้งนี้ End of Waste Thailand เป็นแนวคิดที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะนำมาใช้กับการจัดการกากอุตสาหกรรมและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
![]() |
![]() |
“ในระยะแรกกากอุตสาหกรรมที่กรมโรงงานฯจะผลักดันภายใต้แนวคิด End of Waste จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มชีววัตถุ (Bio materials) และกลุ่มแร่ธาตุพื้นฐาน (Basic mineral substances)
End of Waste สามารถช่วยลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ลดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากกากอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อการใช้งาน นำไปสู่การเป็น Green industry ตามนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ใช้ “หัว” และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน”
![]() |
![]() |
ด้าน นายพร้อมพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานพัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (The Circular Material Hub) สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งในการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คือ การเร่งนำผลงานวิจัยไทยมาประยุกต์ใช้กับการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยได้นำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ ควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มากำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโมเดล Smart Agriculture Industry (SAI) โดยใช้ศักยภาพและความพร้อมของสมาชิกฯ เพื่อเป็นต้นแบบศูนย์ผลิตแหล่งโปรตีนจากพืชตามหลัก BCG แห่งแรกของประเทศ และมีแผนในการขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ
![]() |
![]() |
นอกจากนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะ สวทช. ทั้งความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเพื่อรองรับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และล่าสุดได้หารือกับทีมผู้บริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ถึงแนวทางความร่วมมือด้านการขับเคลื่อน Smart Agricultural Industry (SAI) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามนโยบาย One FTI ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้เกิดการทำงานเป็นทีมเดียวกันของภาครัฐ หน่วยวิจัย และอุตสาหกรรม
![]() |
![]() |
“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีกลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกที่หลากหลายใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุม 75 จังหวัด มีทั้งอุตสาหกรรมผู้ก่อกำเนิดของเสีย(waste generator) อุตสาหกรรมรับขนส่งของเสีย(waste transporter) และอุตสาหกรรมรับบำบัด กำจัด ของเสีย(waste processor) ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงสามารถเข้ามามีบทบาท และร่วมมือที่จะผลักดัน End of waste ได้ในทุกขั้นตอน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กฎระเบียบ End of waste เกิดขึ้นได้จริงในประเทศ”
![]() |
![]() |
![]() |
ภายในงานสัมมนาครั้งนี้มีบริการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแก่ผู้ประกอบการที่สนใจการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้ง โดยทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญของ สวทช. รวมถึงคำปรึกษาด้านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำโครงการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) รวมทั้งมีการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยด้านการเพิ่มมูลค่ากากของเสียโดย สวทช. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
################