24 พฤษภาคม 2565 / สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ Nature Plearn Club พร้อมด้วยการผนึกกำลังขององค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงอาสาสมัครที่ทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์พลเมือง
จัดแถลงข่าวสรุปผลการสำรวจของ “กิจกรรมปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022)” ในการร่วมกันสำรวจ เก็บตัวอย่าง แล้วบันทึกผ่านแอปพลิเคชัน iNaturalist เพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในเขตเมืองอย่างเป็นระบบ ที่มีผู้ร่วมสำรวจมากถึง 445 เมือง จาก 47 ประเทศทั่วโลก พบสิ่งมีชีวิตมากกว่า 50,176 ชนิด และรวมมากกว่า 2,244 ชนิดที่เป็นชนิดหายาก ใกล้สูญพันธุ์
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และการสนับสนุนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ประชาชน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดงาน “ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022 : CNC2022)” ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ได้มีการจัดงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมืองระยอง เมืองขอนแก่น เมืองเชียงใหม่ และเมืองหาดใหญ่ โดยในงานนี้ สวทช. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพืชและจุลินทรีย์จากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) ไปร่วมเป็นวิทยากรนำสำรวจธรรมชาติในพื้นที่สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สวทช. ยังได้สนับสนุนให้ประชาชนไทยเข้าถึงการใช้งานแอปพลิเคชัน iNaturalist ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาคู่มือการใช้งานแอปพลิเคชันฉบับภาษาไทยขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และได้นำมาใช้เป็นคู่มืออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งในอนาคตจะใช้สนับสนุน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป”
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “อพวช. ให้ความสำคัญแก่เยาวชนและประชาชน ในการสร้างการมีส่วนร่วมและการปลูกฝังทักษะด้านวิทยาศาสตร์ และกระบวนการคิดของการเป็นนักวิทยาศาสตร์แก่สังคม โดยกิจกรรม City Nature Challenge 2022 ถือเป็นกิจกรรมลักษณะ Citizen Science (วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง) ทำให้เกิดความตื่นตัว และความสนใจด้านธรรมชาติวิทยา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สังเกตบันทึกข้อมูลได้ด้วยตนเองอย่างเป็นระบบในระดับคุณภาพงานวิจัย ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน iNaturalist แบบไม่มีค่าใช้จ่าย
อพวช. หวังให้ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์พลเมือง เพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในเขตเมืองอย่างเป็นระบบด้วยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชนและประชาชนคนไทย ในการร่วมกันสำรวจ เก็บตัวอย่าง แล้วบันทึกผ่านแอปพลิเคชัน iNaturalist ต่อไป ถึงแม้กิจกรรมสิ้นสุดลงแต่การค้นพบความมหัศจรรย์ของสิ่งชีวิตไม่มีวันสิ้นสุดอย่างแน่นอน และข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลของประเทศและของโลกได้เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองต่อไปได้ในอนาคต”
นายอุเทน ภุมรินทร์ กลุ่ม Nature Play and Learn Club หน่วยงานหลักที่ผลักดันกิจกรรมฯ กล่าวว่า “กิจกรรม City Nature Challenge 2022” จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 เป็นกิจกรรมระดับโลกที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกมากกว่า 445 เมือง ใน 47 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมสำรวจธรรมชาติในเมือง พร้อมเชื่อมโยงประชาคมเมืองให้เข้ากับระบบนิเวศในเขตเมืองที่ตนเองอยู่อาศัย หวังสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติจากสิ่งใกล้ตัว
โดยประเทศไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, เมืองระยอง, เมืองขอนแก่น, เมืองเชียงใหม่ และเมืองหาดใหญ่ แล้วทำการรวบรวมสรุปผลการสำรวจเพื่อนำไปประมวลผลการค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้จากเขตเมืองกับเครือข่ายสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จากการสำรวจในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 284 คน จำนวนการสังเกต 7,756 ครั้ง พบสิ่งมีชีวิตจำนวน 2,109 (Species) ชนิด ซึ่งกิจกรรมฯ นี้ได้สร้างความตื่นตัว และความสนใจด้านธรรมชาติวิทยาให้ทุกคนได้สนุกกับการทดลองสังเกตบันทึกข้อมูลได้ด้วยตนเองที่สำคัญหลังจากที่เยาวชนและประชาชนได้ร่วมกิจกรรมนี้ ทุกคนจะได้มีเพื่อนที่สนใจในสิ่งที่เหมือนกัน และได้ร่วมทำกิจกรรมดี ๆ ด้วยกันอีกด้วย”
สำหรับผลการสำรวจธรรมชาติในเมืองทั่วโลกของปี 2565 ได้ผลสรุปดังนี้ การสังเกตการณ์จากทั่วโลกจำนวน 1,694,877 ครั้ง จำนวนชนิดที่บันทึกได้มากกว่า 50,176 (Species) ชนิด และรวมมากกว่า 2,244 ชนิดที่เป็นชนิดหายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือถูกคุกคามในระดับสากลตามการจัดสถานภาพของ IUCN Red List (การประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในโลก) และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้จากทั่วโลก จำนวน 67,220 คน
“กิจกรรม City Nature Challenge 2022” ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์กรอิสระ อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), มูลนิธิโลกสีเขียว, มูลนิธิรักสัตว์ป่า, กลุ่มบริษัทดาว และโครงการ Dow Thailand Mangrove Alliance, บริษัท ดีแคทลอน (ประเทศไทย) จำกัด, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เครือข่ายเยาวชนระดับโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพประจำประเทศไทย (GYBN Thailand), Nature Plearn Club, โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต, เถื่อนChannel, และกลุ่มนก หนู งูเห่า