สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบกิจกรรมสะเต็มศึกษาบูรณาการสร้างสมรรถนะ เตรียมความพร้อมสู่ยุค Metaverse ระหว่างวันที่ 6 – 7 เมษายน 2565 ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
มีเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบกิจกรรมสะเต็มศึกษาบูรณาการสร้างสมรรถนะ เชื่อมโยงกับการเตรียมความพร้อมสู่ยุค Metaverse ครูผู้สอนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้หลักการและตัวอย่างกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้จัดประสบการณ์ให้ผู้เรียน ซึ่งเป็นพื้นฐานต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วยครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในพื้นที่ EEC (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) อบรมผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom จำนวน 340 คน ครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี บุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่สนใจจำนวน 3,202 คน ร่วมรับชมผ่านทาง https://www.facebook.com/sciencecamp.fanpage
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวต้อนรับ และบรรยายพิเศษเรื่อง “เทคนิคการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา” โดยกล่าวถึง สถานการณ์โลกในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นำไปสู่นโยบาย BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งนำมาเป็นพื้นฐานของการออกแบบและพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญคือการฝึกให้เด็กมีความรู้ แรงบันดาลใจ ทักษะ และสมรรถนะ ที่ตอบโจทย์สถานการณ์โลกและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยนำเสนอเทคนิคการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาที่น่าสนใจ 12 ข้อ สื่อการเรียนรู้ และตัวอย่างกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงหลักสูตรกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพในพื้นที่ EEC เช่น ยานยนต์ อาหารเพื่ออนาคต และเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น ดังนั้น การส่งเสริมให้ครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะทำให้สามารถนำไปใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาไปสู่การจัดทำหลักสูตรส่งเสริมสมรรถนะในสถานศึกษา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้จัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
จากนั้นเป็นการแนะนำภาพรวมการอบรม และบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางการจัดการศึกษาบูรณาการสู่สมรรถนะหลัก” โดย อาจารย์ณภัทร ศรีละมัย ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรปราการ และที่ปรึกษาโครงการ ฯ โดยกล่าวถึงการเรียนการสอนเชิงสมรรถนะต้องเกิดจากการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Learning Integration) ที่เป็นการบูรณาการความรู้หลากหลายวิชา ออกแบบการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ครูผู้สอนได้รับองค์ความรู้จาก สวทช. จำนวน 4 หลักสูตร 1) หลักสูตรยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ 2) หลักสูตรอาหารและอาหารเพื่ออนาคต 3) หลักสูตรเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 4) หลักสูตรเคมีชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดจัดทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในหลักสูตรสถานศึกษา และขยายผลสู่การจัดกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้ผู้เรียนในห้องเรียนต่อไป
การบรรยายที่น่าสนใจในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพสมรรถนะผู้เรียน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นประชากรโลกเสมือนจริง (Metaverse)” โดย ผศ.ดร. กุลชัย กุลตวนิช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและอีเลิร์นนิง อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ KIDS University by KMITL | มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก ได้นำเสนอเกี่ยวกับชีวิตวิถีใหม่ กับ Metaverse เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ซึ่งเข้ามามีบทบาทเชื่อมการเรียนรู้ระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนที่คาดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนบนโลกใบนี้ไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในโลกการศึกษาและการเรียนรู้ โดยมีการสาธิตการสร้าง Avatar ซึ่งเป็นตัวละครที่เสมือนจริง สำหรับประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาเด็กไม่เปิดกล้องในช่วงระหว่างเรียนออนไลน์ และยังช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้สนุกสนานมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการสร้างอาชีพในโลกเสมือนจริง ใช้ในสร้างสื่อการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทัศนศึกษาเสมือนตามสถานที่ต่าง ๆ การทำงานเป็นกลุ่ม การแสดงผลงาน การประชุม เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร. บังอร เสรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บรรยายในหัวข้อ “สมรรถนะและการศึกษาฐานสมรรถนะ” โดยกล่าวถึงศักยภาพภายใน (Potential) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เรียนทุกคนมีอยู่อย่างแตกต่างกัน ครูผู้สอนจะต้องนำพาศักยภาพภายในของผู้เรียนออกมา โดยประกอบด้วยคำสำคัญ 4 คำ เริ่มต้นจาก A (Attitude) เพื่อสร้างความสนใจให้อยากเรียนรู้ ตามด้วย K (Knowledge) และ S (Skill) จากนั้นสร้างสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน เพื่อนำ A, K, และ S มาแก้ไขปัญหา จะทำให้เกิด C (Competency) จนประสบความสำเร็จ ดังนั้น สมรรถนะจึงเป็นผลรวมของความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะ และความสามารถอื่น ๆ ที่ช่วยให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลประสบความสำเร็จในการทำงาน การนำเสนอการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency – Based Education) มุ่งเป้าที่การพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลตามความแตกต่าง มี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) หลักสูตร 2) การเรียนการสอน และ 3) การวัดและประเมินผล เพื่อให้ครูผู้สอนเกิดความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำหลักการไปใช้งานได้จริง
ช่วงบ่ายต่อด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจในหัวข้อ “การสอนบูรณาการสมรรถนะ กับโรงเรียนแนวคิดใหม่เพิ่มสมรรถนะเด็กรับโลกอนาคต” โดย ดร. นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา และทีมก่อการครู เริ่มการบรรยายเกี่ยวกับ การออกแบบกิจกรรมห้องเรียน CBE การวัดและประเมินสมรรถนะ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาโรงเรียนสุจิปุลิ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนแนวคิดใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน ยกตัวอย่างการจัดการเรียนรู้เรื่อง “หมูกระทะ” ซึ่งได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาหาร รวมไปถึงการล้างกระทะซึ่งเป็นการสร้างสถานการณ์เริ่มต้นให้ผู้เรียนลองตั้งสมมติฐาน หาข้อมูล และลงมือทำด้วยตัวเอง และยกตัวอย่างการจัดการเรียนรู้เรื่อง “แพช่วยชีวิต” มีแนวคิดสำคัญคือการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหา ผู้เรียนจะได้ออกแบบการเรียนรู้แบบอิสระ และได้ลงมือทำงานร่วมกัน การวัดและประเมินฐานสมรรถนะให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อพัฒนา ใช้วิธีการประเมินตามสภาพจริง มุ่งวัดสมรรถนะแบบองค์รวม นอกจากนี้ ดร. นาฎฤดี ได้นำเสนอเครื่องมือ CBE Canvas ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน 1) Learner 2) Objective 3) Learning และ 4) Evaluation/Evidence ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยครูผู้สอนในการออกแบบคาบเรียนฐานสมรรถนะอย่างง่ายในหน้าเดียว
และการบรรยายหัวข้อสุดท้าย “เทคนิคการออกแบบกิจกรรมการสอนวิทยาศาสตร์ สื่อสารอย่างไรให้ตรงใจผู้เรียนในยุคดิจิทัล” โดย ดร. กอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี ได้นำเสนอเกี่ยวกับการออกแบบกิจกรรมการสอนวิทยาศาสตร์ให้ตรงกับคุณลักษณะของผู้เรียนในยุคดิจิทัลด้วยเนื้อหาที่ถูกต้องและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเนื้อหาและบริบทของผู้เรียน โดยนำเสนอความเชื่อมโยงของกรอบ “สมรรถนะ” ที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้และการประเมินอิงสมรรถนะได้ นอกจากนี้ยังนำเสนอการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการยกตัวอย่างแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ทางการศึกษาที่ช่วยนำเข้าสู่บทเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และสรุปผลการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ครูผู้สอนนำไปจัดการเรียนรู้ให้ห้องเรียนมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
วันที่ 2 ของการอบรมเริ่มด้วยกิจกรรม “Wake up เตรียมความพร้อมสู่การอบรม” โดย ดร. กมลรัตน์ ฉิมพาลี ครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) โรงเรียนถนนหักพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อกระตุ้นความสนใจให้กับผู้เข้าร่วมอบรม พร้อมทั้งสอดแทรกเทคนิคการสอนที่สนุกสนานในรูปแบบออนไลน์อีก
ในช่วงเช้าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจหัวข้อ “แนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based approach) Innovation In Education – Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต” วิทยากรจาก SEAMEO STEM-ED CENTER นำโดย นายนันทวุฒิ พิมพ์แพง ผู้จัดการโครงการ STEM Career Academies เริ่มต้นด้วยหัวข้อ “สะเต็มศึกษาและแนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – based Learning)” โดย ผศ.ดร. บุรินทร์ อัศวพิภพ ผู้อำนวยการโครงการ STEM Resources and Capacity Building ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเป็นบริบทการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์และคิดแก้ปัญหาโดยใช้เทคนิคสะเต็มศึกษา และครูผู้สอนทดลอง ทำกิจกรรม “ประดิษฐ์ที่วางมือถือ” ผ่านการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จำลอง
ต่อมา รศ.ดร. พรรัตน์ วัฒนกสิวิชช์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาที่มีความสอดคล้องกับบริบทจริง จากตัวอย่างโมดูลการเรียนรู้ “การบริโภคหวานและเค็มเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” มีการใช้เครื่องมือโพล (Poll) บนโปรแกรม Zoom เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นและเป็นการนำเข้าสู่ตัวอย่างโมดูลการเรียนรู้ และนำเสนอตัวอย่างแนวทางการจัดการเรียนรู้แต่ละขั้นนตอน จากนั้นปิดท้ายด้วยกิจกรรมการออกแบบห้องเรียน PBL เบื้องต้น…จากปัญหาสู่มูลค่าเพิ่มทางอาชีพ โดย นายมงคล สาระคำ ที่ปรึกษาโครงการ โดยได้กล่าวถึงตัวอย่าง การออกแบบกิจกรรมผ่านสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับอาหารสำหรับนักกีฬา นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้
ช่วงบ่ายต่อด้วยกิจกรรม “บรรยายและกิจกรรม สร้างกลยุทธ์ใหม่แห่งการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีและสื่อสร้างสรรค์” โดย ดร. กมลรัตน์ ฉิมพาลี ครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) โรงเรียนถนนหักพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ นำเสนอเทคนิคการสอน การใช้ดิจิทัล และนวัตกรรม ในการเพิ่มพลังการเรียนรู้ให้เด็กไทยด้วยห้องเรียนที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง
กิจกรรมสุดท้ายเป็นการบรรยายและกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบกิจกรรมบูรณาการเพื่อพัฒนาไปสู่นวัตกร” โดย รศ. ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้นำเสนอเกี่ยวกับการออกแบบกิจกรรมเพื่อจัดการเรียนรู้บูรณาการแนวคิดแบบ STEM Education ส่งเสริมความเป็นนวัตกรและผลงานสร้างสรรค์ของผู้เรียน มีการยกตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปใช้งานได้จริง เช่น รถพลังงานน้ำ สร้างกระติก สิ่งประดิษฐ์จากหลอดไฟแอลอีดี รถพลังลม เป็นต้น ยกตัวอย่างห้อง FABLAB ที่มีเครื่องมือสำหรับอำนวยความสะดวกในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในพื้นที่ EEC
ภาพกิจกรรมบางส่วนจากช่องทาง Facebook Live