หน้าแรก สวทช.-โอสถสภา-หน่วยงานพันธมิตร ชู ‘สมุนไพร-ถั่วเขียว’ ยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  
สวทช.-โอสถสภา-หน่วยงานพันธมิตร ชู ‘สมุนไพร-ถั่วเขียว’ ยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  
8 มี.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(เมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม 2567) ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ อ.เมืองศรีสะเกษ และตำบลเมืองหลวง ตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ชาติ (สวทช.) นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) พร้อมด้วยทีมวิจัย สวทช. ประกอบด้วย ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดร.ประเดิม วณิชชนานันท์ นักวิจัยไบโอเทค ดร.วีรกัญญา มณีประกรณ์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.

พร้อมด้วย ดร.วิวรรธน์ กฤษฎาสิมะ Chief Supply Chain and Digitization Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)และคณะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การปลูกขิง และฟ้าทะลายโจรพันธุ์ราชบุรี ภายใต้โครงการการยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ด้านพืช สมุนไพร) นำร่อง 3 จังหวัดทุ่งกุลาร้องไห้ (ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับการผลิต แปรรูป พัฒนาต่อยอดพืชสมุนไพร โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยสถาบันสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชนโดยใช้กลไกตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นการทำงานที่บูรณาการความร่วมมือแบบจตุภาคีจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม โดย สวทช. ร่วมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนา ทดสอบ สาธิต และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชสมุนไพรให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งการผลิตพืชสมุนไพรให้เพียงพอและได้มาตรฐานตามความต้องการนั้น สิ่งสำคัญในการผลิตสมุนไพร คือ ต้องมีการบริหารจัดการแปลงที่ดี ได้แก่ การผลิตพันธุ์ปลอดโรค เพื่อส่งให้แก่เกษตรกร การให้ความรู้กับเกษตรกรในการเตรียมท่อนพันธุ์หรือหัวพันธุ์ การจัดการดิน เพื่อป้องกันการเกิดโรคสะสม รวมทั้งการผลิตและดูแลที่เหมาะสมต่อการปลูกที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ส่งเสริมการผลิตสมุนไพรคุณภาพให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) หรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งตลาดมีความต้องการ และในแปลงสมุนไพรต้องมีปริมาณโลหะหนัก สารพิษทางการเกษตร และปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ ไม่เกินค่ามาตรฐาน และต้องผลิตสารสำคัญให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

“สวทช. ร่วมกับ บริษัท โอสถสภาฯ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ โดยใช้กลไกตลาดนำการผลิตเชื่อมโยงกับบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความต้องการวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ขิง ไพล ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น โดยสมุนไพรที่มีศักยภาพและทางบริษัทฯ ต้องการเป็นจำนวนมาก คือ ขิง ในปี 2566 มีความต้องการขิงแห้ง 190 ตัน และปี2567 มีความต้องการขิงแห้ง 180 ตันแห้ง นอกจากนี้ไพล และฟ้าทะลายโจร ก็เป็นอีกสมุนไพรทางเลือกที่ตลาดมีความต้องการ และมีงานวิจัยของ สวทช. ในเรื่องพันธุ์ การบริหารจัดการการปลูก ทำให้เลือก ขิง ไพลและฟ้าทะลายโจร เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับการผลิต แปรรูป พัฒนาต่อยอดพืชสมุนไพร โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบไว้คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า การทำงานร่วมกับบริษัทโอสถสภาฯ โดยเฉพาะประเด็นขิงในปี 2567 ทางโอสถสภามีความต้องการรับซื้อมากถึง 180 ตันแห้ง ซึ่งจากการสำรวจในปี 2565 มีเกษตรกรให้ความสนใจลงชื่อปลูกสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด 497 คน คิดเป็นพื้นที่ปลูก 310 ไร่  (ขิง 303 คน พื้นที่ 180 ไร่ ไพล 158 คน พื้นที่ 87 ไร่ ฟ้าทะลายโจร 66 คน พื้นที 44 ไร่) อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้จำนวน 165 คน พื้นที่ 105 ไร่

“การดำเนินงานในปี 2566 ได้จัดทำโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการขยายพันธุ์พืชและยกระดับการผลิตสมุนไพรคุณภาพดีของเกษตรกรพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อผลิตต้นกล้าพันธุ์สมุนไพรปลอดโรคด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระบบไบโอรีแอคเตอร์สู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 2.เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรคุณภาพดีให้ได้มาตรฐาน (GAP) ตรงตามความต้องการของตลาด และ 3.เพื่อสร้างจุดเรียนรู้การผลิตสมุนไพรคุณภาพดีเชื่อมโยงกับหน่วยงานในพื้นที่ การดำเนินงานมี 2 แผนงาน

แผนงานที่ 1 : ผลิตหัวพันธุ์ปลอดโรคและทดสอบพันธุ์สมุนไพรให้สารสำคัญสูง หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนในแผนงานนี้ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีเทคโนโลยีของ สวทช. คือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ระบบไบโอรีแอคเตอร์ ฟ้าทะลายโจรพันธุ์สายพันธุ์ราชบุรี BT-1 เป็นสายพันธุ์ที่นักวิจัย สวทช. พัฒนาขึ้น (อยู่ในระหว่างการขอรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร) มีการเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง สร้างสารแอนโดร กราโฟไลด์ปริมาณสูง (Andrographolide; AP1) มากกว่า 2% ผลผลิตสดประมาณ 3,000 กิโลกรัม/ไร่

โดยผลการดำเนินงานปี 2566 จำนวน 2 กิจกรรม ประกอบด้วย

1) ผลิตขิงเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปลอดโรคจำนวน 60,000 ต้น โดยสวทช. ผลิต master stock ส่งมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 300 ต้น ผลิตขิงเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 30,000 ต้น และ สวทช. ผลิตขิงปลอดโรคจำนวน 30,000 ต้น รวมเป็น 60,000 ต้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการอนุบาลต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออยู่ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษจำนวน 15,000 ต้น และศูนย์ขยายพันธุ์พืชมหาสารคามจำนวน 45,000 ต้น จะพร้อมส่งมอบให้เกษตรกรปลูกในปี 2568

2) แปลงทดสอบพันธุ์ขิง และฟ้าทะลายโจรที่ให้สารสำคัญสูง

    ขิง : สวทช. ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จัดทำแปลงทดสอบขิงจาก 2 พื้นที่ ได้แก่ เพชรบูรณ์ และเลย ซึ่งอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลและนำไปตรวจดูปริมาณน้ำมันหอมระเหยจากขิง ผลผลิตที่ได้จากแปลงทดสอบจะนำไปเป็นหัวพันธุ์ให้กับเกษตรกรในฤดูกาลผลิตปี 2567 ต่อไป นอกจากนี้มหาวิทาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้นำหัวพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ อ.สุวรรณภูมิ เพื่อผลิตหัวพันธุ์ขิง แต่ไม่ได้ผลผลิตเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้หัวพันธุ์ไม่งอก

ฟ้าทะลายโจร : ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จัดทำแปลงทดสอบฟ้าทะลายโจร 3 สายพันธุ์ได้แก่ พันธุ์พิจิตร 4-4 และพันธุ์พิษณุโลก 5-4 เป็นสายพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร และพันธุ์ราชบุรี BT-1 เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาโดย สวทช. พบว่าปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรทั้ง 3 สายพันธุ์ ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และอยู่ระหว่างการทำแปลงทดสอบรอบที่ 2 เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้นำฟ้าทะลายโจรพันธุ์ราชบุรีให้เกษตรกรในพื้นที่ ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทันจ.ศรีสะเกษ ทดลองปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์พิจิตร 4-4  พบว่าให้ผลผลิตดี และมีสารปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 46.99 ± 0.03 มก./ก. น้ำหนักแห้ง (4.7%) มีปริมาณที่สูง โดยโรงพยาบาลห้วยทับทันสนใจที่จะรับซื้อผลผลิตฟ้าทะลายโจรพันธุ์ราชบุรี อยู่ระหว่างการนำผลผลิตฟ้าทะลายโจรพันธุ์ราชบุรีไปทดสอบการบรรจุลงแคปซูล

แผนงานที่ 2 การอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรคุณภาพดี และสร้างจุดเรียนรู้หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนในแผนงานนี้ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ บริษัท โอสถสภา จำกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีเทคโนโลยีของ สวทช. คือ การผลิตสมุนไพรคุณภาพดี เทคโนโลยีสารชีวภัณฑ์ การตรวจวิเคราะห์โลหะหนัก

โดยผลผลการดำเนินงาน 2566 เกษตรกรได้รับองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรคุณภาพดีมาตรฐาน GAP (ขิง ไพลฟ้าทะลายโจร) เทคโนโลยีการใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันโรคเน่า จำนวน 337 คน ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และมีเกษตรกรแกนนำ นำร่องปลูกขิงจำนวน 28 คน พื้นที่รวม 10 ไร่ โดยแต่ละคนจะปลูกคนละ 1-2 งาน รายละเอียดแสดงตามตารางที่ 1  ได้ผลผลิตขิงสดรวม 684.8 กิโลกรัมคิดเป็นผลผลิตแห้ง 140 กิโลกรัม (คิดที่อัตราส่วน 5:1)  ขิงที่ได้ภายใต้โครงการเป็นขิงปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี และปลอดภัยจากโลหะหนัก (ปรอท แคดเมียม สารหนู) ซึ่ง สวทช. ได้นำตัวอย่างดินและผลผลิตขิงไปตรวจวิเคราะห์โดยเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์โลหะหนักไม่พบ การปนเปื้อน (ผลผลิตอยู่ระหว่างการเก็บตัวอย่างไปตรวจ รวมทั้งปริมาณน้ำมันหอมระเหย) โดยปีนี้ผลผลิตขิงยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายเนื่องจากเป็นปีแรกที่เกษตรกรทดลองปลูก ต้องเรียนรู้และคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สวทช. ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บริหารคูโบต้าคาร์ปาเรชั่น จำกัด และผู้บริหาร หจก.ศิริบูรณ์ จงเจริญไพศาล ได้มอบป้าย “ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน” ให้แก่นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ณ ศูนย์เรียนรู้ ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ผักไหม ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ

8 มี.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: