จากปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีหญิงตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งหลุดจากระบบการตรวจติดตามสุขภาพโดยแพทย์ระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งการขาดการประเมินสุขภาพและการได้รับคำแนะนำจากสูตินารีแพทย์ตามการนัดหมาย อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายร้ายแรงแก่ทั้งแม่และทารกในครรภ์ อาทิ ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด การแท้ง
ดร.พิมพ์วดี เชาวลิต อาหวาด ทีมวิจัยพฤติกรรมมนุษย์ กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าว่า หลังจากทีมวิจัยได้มีโอกาสรับทราบปัญหาจากสูตินารีแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงได้ร่วมมือกันนำความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาวิจัยและพัฒนาระบบติดตามสุขภาพหญิงตั้งครรภ์จากทางไกล (Telemedicine) จนได้เป็น “REMI (Robot for Expecting Mother’s Information) ระบบตอบกลับอัตโนมัติ (แชตบอต) สำหรับหญิงตั้งครรภ์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์”
“REMI แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือระบบสำหรับให้บริการหญิงตั้งครรภ์ โดยหลังจากการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้แนะนำการใช้งานระบบแชตบอตเพื่อใช้ติดตามประเมินสุขภาพตลอดช่วงตั้งครรภ์ การเริ่มต้นใช้งานผู้ใช้จะต้องลงทะเบียนและใส่รายละเอียดที่สำคัญ อาทิ น้ำหนัก ส่วนสูง อายุครรภ์ โรคประจำตัว หลังจากนั้นทุกสัปดาห์จึงเข้ามาบันทึกข้อมูลน้ำหนัก อาหารที่บริโภค รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อให้ระบบช่วยประเมินความเหมาะสมของน้ำหนักตามอายุครรภ์ เพราะน้ำหนักที่น้อยหรือมากเกินเกณฑ์อาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงการมีโรคแทรกซ้อนหรือการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสมได้ สำหรับการบริโภคของหญิงตั้งครรภ์ระบบจะช่วยแนะนำปริมาณพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน รวมถึงประเภทอาหารที่ควรบริโภคตามความเหมาะสมของแต่ละคน
นอกจากนี้หากผู้ใช้งานมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ อาทิ อาหารที่ไม่ควรบริโภค การออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์ การบริโภคยา หรืออาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ สามารถพูดคุยกับแชตบอตเสมือนพูดคุยกับเพื่อนคนหนึ่งเพื่อให้แชตบอตแนะนำข้อมูลทางด้านการแพทย์ รวมถึงข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตามแชตบอตไม่สามารถทำหน้าที่ประเมินอาการผิดปกติหรือโรคแทนแพทย์ผู้ดูแล”
ดร.พิมพ์วดี อธิบายต่อว่า ส่วนที่สองของระบบ REMI คือส่วนของแพทย์ผู้ดูแล หลังจากหญิงตั้งครรภ์บันทึกข้อมูลเข้าระบบแล้ว เซิร์ฟเวอร์จะประมวลผลข้อมูลและแสดงผลไปยังแดชบอร์ด โดยจะแสดงข้อมูลของหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในการดูแลทุกคนพร้อมโคดสีที่สื่อถึงความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ อิงตามเกณฑ์การประเมินสุขภาพทางการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามผล และหากแพทย์ผู้ดูแลพบความผิดปกติสามารถแชตเพื่อพูดคุยกับหญิงตั้งครรภ์ผ่านระบบนี้ได้
“ระบบ REMI เป็นระบบการตรวจสุขภาพที่เหมาะแก่การใช้ประเมินสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์เบื้องต้นในช่วงที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งนอกจากจะช่วยให้หญิงตั้งครรภ์ดูแลตนเองได้มีประสิทธิภาพ ลดเวลา ค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงในการติดโรคจากการเดินทางมายังสถานพยาบาล โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แล้ว ยังช่วยลดภาระงานให้กับแพทย์ได้อีกด้วย ปัจจุบันมีการทดสอบการใช้งานระบบ REMI แล้วที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และจะมีการประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการ รวมถึงพัฒนาให้ระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป”
ดร.พิมพ์วดี ทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่สนใจทั้งผู้ประกอบการและสถานพยาบาล เนคเทคพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมถึงร่วมทำวิจัยเพื่อพัฒนาระบบ Telemedicine สำหรับให้บริการผู้ป่วยโรคต่างๆ เพื่อหนุนเสริมให้คนไทยเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขให้กับคนไทยตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติในปัจจุบัน
ผลงาน ‘REMI (Robot for Expecting Mother’s Information) ระบบตอบกลับอัตโนมัติ (แชตบอต) สำหรับหญิงตั้งครรภ์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์’ เป็นหนึ่งในผลงานที่เผยแพร่ในงานการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC2022) ภายใต้หัวข้องาน ‘พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม BCG’ ซึ่งในปีนี้จะมีการจัดงานแบบออนไลน์ในวันที่ 28-31 มีนาคม 2565 ติดตามงานได้ที่ www.nstda.or.th/nac
เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์