หน้าแรก วช. – สวทช. เปิดตัว 3 นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567
วช. – สวทช. เปิดตัว 3 นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567
26 ส.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(26 สิงหาคม 2567) ณ ห้อง Lotus Suite 3 – 4 ชั้น 22 บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมจัด “งานเปิดตัวนักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567”

โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว 3 นักวิจัยศักยภาพสูง จากการสนับสนุนจากทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 และโครงการวิจัยที่กำลังจะดำเนินการ รวมถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ผู้บริหาร วช. ผู้บริหาร สวทช. ผู้บริหารต้นสังกัดนักวิจัย นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของ วช. โดยในปี 2567 วช. ร่วมกับ สวทช. เปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือด้านสังคมศาสตร์ หรือด้านมนุษยศาสตร์ โดยมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย เพื่อให้เกิดกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม และมีโครงสร้างการพัฒนานักวิจัยอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับนักศึกษา นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง จนถึงนักวิจัยอาวุโส 2) สร้างและบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อสร้างผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประเทศ 3) สร้างโอกาสการวิจัยและการใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน ด้านนโยบาย และ 4) สร้างเครือข่ายการวิจัยระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อผลักดันผลผลิตงานวิจัย รวมถึงการสื่อสารข้อค้นพบทางวิชาการให้กับสังคมและชุมชน และการตอบสนองต่อปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 ที่ได้รับการสนับสนุน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ จากสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ จากสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์สุขภาพ และ ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง จากสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี งบประมาณรวมไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ปัจจุบันทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ให้การสนับสนุนไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานที่ดูแลและบริหารจัดการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง โดยอาศัยกระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยและกลไกบริหารโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ สวทช. มีอยู่ รวมถึงการใช้ทรัพยากรและกระบวนการของ สวทช. ไม่ว่าจะเป็นฐานนักวิจัย โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกลไกบริหารโครงการวิจัย โดยความร่วมมือระหว่าง วช. และ สวทช.

จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ วช. และ สวทช. จะร่วมดำเนินการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัย โดยใช้เกณฑ์ครอบคลุมศักยภาพของบุคลากรและคุณค่าของโครงการ ผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อคัดเลือกโครงการที่มีความโดดเด่นและสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมนักวิจัยและทีมวิจัยที่ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 การสนับสนุนทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างทีมวิจัยที่แข็งแกร่ง และพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้รับไปเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ  ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของประเทศ แต่ยังส่งเสริมการเติบโตของนักวิจัยจากรุ่นสู่รุ่น และจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยท่านอื่น ๆ ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณค่า ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ท้าทายของสังคม และสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง กล่าวแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับนักวิจัยทั้งสามท่านและทีมวิจัย ที่ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ซึ่งล้วนเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับ ทุนวิจัยนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างทีมวิจัยที่เข้มแข็งที่มีศักยภาพระดับในและต่างประเทศ ซึ่งการทำงานเป็นทีมย่อมสร้างผลงานที่มีผลกระทบสูงและสามารถขยายผลได้อย่างกว้างขวางมากกว่าการทำงานเพียงลำพัง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัยก้าวข้ามอุปสรรค บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้ทีมวิจัยเหล่านี้เป็นคลังสมองของประเทศ เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ขยายบทบาทสู่เวทีนานาชาติ และเสริมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

ภายในงาน ยังมีการแถลงงานวิจัยของนักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 และแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการวิจัยดังกล่าว  โดยผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่

  1. รศ. ดร.อุไรวรรณ อรัญวาสน์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นผู้บรรยายแทนศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ สังกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการ “มาลาเรียลิงที่ติดต่อมาถึงคน: บทบาทของยุงพาหะและลิงหางยาวและการพัฒนาแผนที่ทำนายความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย” โดยศึกษาปัจจัยที่ก่อโรคมาลาเรียลิงที่ติดต่อมาถึงมนุษย์ โดยการศึกษายุงพาหะ ลิงหางยาว คน เชื้อมาลาเรีย ไปพร้อม ๆ กัน และตัวอย่างการควบคุมยุงพาหะนำโรค การสนับสนุนข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการให้แก่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการควบคุมโรคมาลาเรียในประเทศไทยต่อไป
  2. ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการ “กลุ่มวิจัย: สร้างองค์ความรู้ใหม่ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ โรคติดเชื้อในเขตร้อนที่ถูกละเลยและโรคที่นำโดยพาหะแบบบูรณาการวิจัย เพื่อพัฒนาผลิตนวัตกรรมใหม่สู่การประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสังคมไทยที่ยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการประยุกต์การวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ โรคติดเชื้อในเขตร้อนที่ถูกละเลย และโรคที่นำโดยพาหะแบบบูรณาการวิจัย ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัย การรักษา และป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง
  3. ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวเคมีภัณฑ์จากชีวมวลและวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภายใต้แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” โดยแบ่งเป็น 2 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ แพลตฟอร์มพลังงานชีวภาพที่มุ่งผลิตไฮโดรเจน มีเทน และไบโอไฮเทน และแพลตฟอร์มชีวเคมีภัณฑ์ที่มุ่งผลิตสารเคมีมูลค่าสูง เช่น กรดไขมันและพอลิเมอร์ชีวภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง

ทั้งนี้ผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยศักยภาพสูงทั้ง 3 ท่าน มุ่งเน้นผลสำเร็จ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

26 ส.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: