ไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคระบาดร้ายแรงประจำถิ่นประเทศไทย รวมถึงประเทศในแถบร้อนชื้น มียุงลายเป็นพาหะของเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV) พบการระบาดตลอดทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูฝนและมีการระบาดหนักในทุก 2-5 ปี โดยในปี 2566 นี้เป็นปีที่ประเทศไทยส่อเค้าระบาดหนักอีกครั้ง ล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 45,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 41 ราย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทันระบาด” เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกแบบเชิงรุกสำหรับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังต่อยอดสู่แอปพลิเคชัน “รู้ทัน” เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนใช้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก รวมถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคโควิด-19 ฝุ่น PM2.5 ดัชนีความร้อนที่นำไปสู่โรคลมแดด
“ทันระบาด” แพลตฟอร์มจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลโรคไข้เลือดออกแบบเรียลไทม์สำหรับเจ้าหน้าที่
หากย้อนไปช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ประชาชนอาจยังคุ้นเคยกับการได้เห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเดินถือกระดาษแผ่นใหญ่ออกสำรวจลูกน้ำยุงลายภายในชุมชน วัด และโรงเรียน แต่ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลได้ง่ายขึ้นด้วยสมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว
ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ หัวหน้าทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เนคเทค สวทช. เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2559 เนคเทค สวทช. ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค เปิดตัวแพลตฟอร์ม “ทันระบาด” เพื่อสนับสนุนการวางแผนป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกให้มีประสิทธิภาพและเท่าทันสถานการณ์มากยิ่งขึ้น โดยแพลตฟอร์มประกอบด้วย 4 แอปพลิเคชันหลัก คือ “ทันระบาดสำรวจ” ใช้รวบรวมข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และรายงานความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายให้กับพื้นที่แบบเรียลไทม์ “ทันระบาดติดตาม” ใช้นำเสนอสถานการณ์โรคไข้เลือดออกและความชุกชมของลูกน้ำยุงลายในรูปแบบแผนที่ และตารางที่สามารถเลือกดูข้อมูลได้ตามมิติที่สนใจ “ทันระบาดรายงาน” เป็นเครื่องมือช่วยสรุปชุดข้อมูลสำคัญที่ใช้งานเป็นประจำออกมาในรูปแบบรายงานอย่างอัตโนมัติ และ “ทันระบาดวิเคราะห์” สำหรับสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมองที่สนใจ
“นับตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน ทีมวิจัย เนคเทค สวทช. และกรมควบคุมโรคยังคงพัฒนาแพลตฟอร์มนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ ตัวอย่างฟังก์ชันที่พัฒนาเพิ่ม เช่น ‘ทันระบาดคุณภาพ’ เครื่องมือสำหรับจัดการคุณภาพของข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และ “ทันระบาด EOC” ระบบประเมินเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศได้ทราบถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อวางแผนจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข (Emergency Operation Center: EOC)”
“ทันระบาด” สู่ “รู้ทัน” แอปพลิเคชันเพื่อสร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชน
แม้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขจะมีหน้าที่โดยตรงด้านการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน แต่จะดีกว่าหรือไม่หากเราทุกคนจะมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังโรคระบาดเพื่อตัดวงจรโรค รวมถึงดูแลตัวเองและครอบครัวให้ปลอดภัยอยู่เสมอ
นายมาโนชญ์ รัตนเนนย์ นักวิจัยทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เนคเทค สวทช. เล่าว่า หลังจากพัฒนาแพลตฟอร์มทันระบาดจนพร้อมให้บริการแก่เจ้าหน้าที่ทั้งประเทศแล้ว ทีมวิจัยเนคเทค สวทช. และกรมควบคุมโรค ยังได้ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” เพื่อนำข้อมูลจากทันระบาดมาสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกแก่ประชาชน โดยเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2564 ภายในแอปพลิเคชันจะมีการดึงข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคมาแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบตามพิกัดที่ผู้ใช้งานอยู่ ณ ขณะนั้น เช่น ขณะนี้อยู่ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกสูง ควรป้องกันตัวไม่ให้ยุงกัด และกำจัดยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่ นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังดูข้อมูลในรูปแบบแผนที่ตั้งแต่ระดับตำบลถึงระดับภาพรวมประเทศ เพื่อแจ้งเตือนคนรู้จักหรือวางแผนเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ เสื้อแขนยาว ยากันยุง ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงได้
นอกจากการเฝ้าระวังไข้เลือดออกแล้ว แอปพลิเคชัน “รู้ทัน” ยังผ่านการออกแบบให้ดึงข้อมูลเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดัชนีความร้อน รวมถึงสภาพอากาศ มาแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ทราบในแอปพลิเคชันเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานแก่ประชาชน
นายธนพล โยธานัก วิศวกร ทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เล่าว่า ทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมควบคุมโรค กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการให้บริการข้อมูลผ่านทาง API (Application Programming Interface) เพื่อให้แอปพลิเคชันรู้ทันสามารถดึงข้อมูลการระบาดของโรคโควิด-19 ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ค่าดัชนีความร้อน รวมถึงสภาพอากาศตามพิกัดพื้นที่มานำเสนอให้ผู้ใช้งานทราบ พร้อมให้ข้อมูลคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมได้ ทั้งนี้แอปพลิเคชันรู้ทันได้รับการสนับสนุนจาก คาโอ คอร์ปอเรชั่น (Kao Corporation) ในการขับเคลื่อนการให้บริการแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย
ก้าวต่อไปของการพัฒนา “ทันระบาด” และ “รู้ทัน” คือการพัฒนาให้แพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
ดร.นัยนา เล่าถึงเป้าหมายในอนาคตว่า ทีมวิจัยมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มทันระบาดให้สามารถวิเคราะห์ชุดข้อมูลเพื่อคาดการณ์แนวโน้มการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ต่าง ๆ สำหรับแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่รวมถึงประชาชนรับทราบความเสี่ยงล่วงหน้าได้ และมีแผนพัฒนาให้รู้ทันมีฟังก์ชันระบบแจ้งเตือนความเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนทราบภาวะเสี่ยงได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องเปิดแอปพลิเคชัน ทั้งนี้ทีมวิจัยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนแพลตฟอร์มนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศไทยต่อไป
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” เพื่อใช้งานได้แล้วผ่านทั้ง Play Store และ App Store ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเพื่อการร่วมวิจัยได้ที่ นายมาโนชญ์ รัตนเนนย์ เนคเทค สวทช. เบอร์โทรศัพท์ 0 2564 6900 ต่อ 2296 หรืออีเมล manot.rattananen@nectec.or.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และเนคเทค สวทช.