ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางพารามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เม็ดเงินที่ไหลกลับเข้าประเทศกลับไม่มากนัก สาเหตุสำคัญมาจากสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ยังคงเป็นวัตถุดิบในขั้นปฐมภูมิ อาทิ น้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน นักวิจัยไทยจึงคิดค้นกระบวนการแปรรูปยางพาราให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้นด้วยเทคนิคการวัลคาไนซ์โดยไม่ใช้สารเคมี เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะแก่การใช้งานด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงวัยในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเทคนิคการวัลคาไนซ์ผลิตภัณฑ์ยางด้วยการฉายลำอิเล็กตรอน พร้อมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์แผ่นเจลรองนั่งเพื่อสุขภาพ และเดินหน้าต่อยอดสู่อุปกรณ์ด้านสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุ
ดร.ปณิธิ วิรุฬห์พอจิต นักวิจัย ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค สวทช. เล่าว่า โดยทั่วไปการขึ้นรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะใช้กระบวนการวัลคาไนเซชัน (vulcanization) ซึ่งเป็นการสร้างพันธะเชื่อมขวางระหว่างโมเลกุลของยาง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความแข็งแรงและทนทานสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในขั้นตอนการผลิตมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ทำให้มักมีสารเคมีตกค้างก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์และก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ นอกจากนี้สารบางชนิดยังเป็นสารก่อมะเร็งและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในตลาดเท่าที่ควร โดยเฉพาะตลาดด้านสุขภาพและการแพทย์
“เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยได้ประยุกต์การใช้ลำอิเล็กตรอนในการวัลคาไนเซชัน ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากผลิตภัณฑ์จะมีความแข็งแรงและคงทนในระดับทัดเทียมกับวิธีการที่ใช้อยู่เดิมแล้ว ยังไม่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ จึงไม่มีกลิ่นสารเคมีรบกวน และมีความปลอดภัยในการใช้งานสูงขึ้น โดยหลังจากการพัฒนากระบวนการขึ้นรูปใหม่สำเร็จ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาสูตรการผลิต ‘แผ่นเจลรองนั่งจากยางพารา’ ซึ่งมีความต้องการในตลาดสูงต่อทันที จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่ทีมวิจัยพัฒนาได้ คือ มีความสามารถในการกระจายแรงสูง ลดแรงกดทับได้มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้ช่วยลดอาการปวดเมื่อยบริเวณก้นกบและหลังส่วนล่างจากการนั่งเป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แผ่นเจลรองนั่งที่พัฒนาขึ้นยังมีคุณลักษณะเด่นที่ทำให้ผู้นั่งรู้สึกเย็นสบายแม้จะผ่านการนั่งทับไปแล้ว 2-3 ชั่วโมงอีกด้วย”
ปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแผ่นเจลรองนั่งจากยางพาราแล้ว โดยผลิตภัณฑ์นี้เหมาะกับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางและกลุ่มบริษัทที่ให้บริการด้านการฆ่าเชื้อด้วยลำอิเล็กตรอน โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถร่วมวิจัยต่อยอดการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เป็นรูปทรงต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับการดูแลสรีระตามหลักการยศาสตร์ (ergonomics) ที่ตอบโจทย์ตลาดเฉพาะทางมากขึ้นได้
ดร.ปณิธิ เล่าต่อว่า ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังจะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่อุปกรณ์การแพทย์สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก รวมถึงเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบของประเทศไทย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในแผนการพัฒนาแล้ว เช่น แผ่นเจลรองนั่งและรองนอนสำหรับบรรเทาการเกิดแผลกดทับ โดยปัจจุบันการวิจัยอยู่ในขั้นตอนของการสรรหางบประมาณสนับสนุนในการทำวิจัยรูปทรงของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมและการทดสอบในระดับคลินิก (clinical test) โดยอาสาสมัคร ส่วนอีกผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง คือ แผ่นรองยืนฝึกการทรงตัวสำหรับการออกกำลังหรือกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อขาให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวิจัยร่วมกับกรมการแพทย์
“ทีมวิจัยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนากระบวนการขึ้นรูปยางด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ รวมถึงมีส่วนช่วยเปิดตลาดและฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราด้วย เพราะหากทำได้สำเร็จจะส่งผลย้อนกลับมาสร้างการเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราไทยได้เป็นอย่างดี” ดร.ปณิธิ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเนตรชนก ปิยฤทธิพงศ์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สวทช. อีเมล netchanp@mtec.or.th หรือ 0 2564 6500 ต่อ 4301
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ shutterstock