“ไฟไหม้สำเพ็งเร่งควบคุมเพลิง เหตุจากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด แล้วลามไปติดรถกับบ้าน” พาดหัวข่าวใหญ่เมื่อช่วงกลางปี 2565 เป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ไฟไหม้จากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทีมนักวิจัยไทยจึงพัฒนา “น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย ภายใต้ชื่อ EnPAT” ที่ไม่เพียงช่วยป้องกันปัญหาไฟไหม้จากเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดและบรรเทาความสูญเสียของประชาชน แต่ยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ
ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ข้อมูลว่า สาเหตุหลักของการเกิดไฟไหม้จากเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด มาจากการที่น้ำมันซึ่งอยู่ในหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดการลุกติดไฟ และเมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ทำให้น้ำมันที่ลุกติดไฟนี้กระจายไปสู่อาคารบ้านเรือนที่อยู่โดยรอบหม้อแปลงไฟฟ้า ส่งผลทำให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลาม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนซึ่งประเมินมูลค่ามิได้ อีกทั้งยังส่งผลถึงความไม่ไว้ใจของประชาชนต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบระบบไฟฟ้าอีกด้วย โดยน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเป็นน้ำมันแร่ซึ่งผลิตมาจากปิโตรเลียม ทำหน้าที่เป็นฉนวนไฟฟ้าและช่วยระบายความร้อนในหม้อแปลงไฟฟ้า แต่ปัญหาสำคัญของน้ำมันแร่คือ อุณหภูมิจุดติดไฟต่ำ ทำให้ลุกติดไฟง่ายเมื่อเกิดเหตุหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัย ที่เรียกว่า “EnPAT” โดยการนำน้ำมันปาล์มมาปรับปรุงคุณภาพให้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการใช้งานในหม้อแปลงไฟฟ้า จนได้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีของคนไทย
“น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าทั่วไปจะมีจุดติดไฟไม่เกิน 170 องศาเซลเซียส แต่ “EnPAT” มีคุณสมบัติเด่นคือมีจุดติดไฟสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าทั่วไปถึง 2 เท่า จึงสามารถป้องกันไฟไหม้จากเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดได้ ช่วยสร้างความปลอดภัยและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ “EnPAT” สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เมื่อมีการรั่วไหลจะจัดการได้ง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต อีกทั้งเมื่อหมดอายุการใช้งานในหม้อแปลงไฟฟ้า ยังสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดในลักษณะของสารพิษ เรียกได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์น้ำมันปาล์มถึงสองต่อ”
ปัจจุบันทีมวิจัยพัฒนาต้นแบบระบบผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัย “EnPAT” ที่กำลังการผลิต 400 ลิตรต่อครั้ง และผ่านการทดสอบในสภาวะเร่งที่ห้องปฏิบัติการ ก่อนนำไปบรรจุในหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อนำร่องการใช้งานจริงต่อไป
ดร.ศุภฤกษ์ เห็นประเสริฐแท้ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง เอ็นเทค สวทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หม้อแปลงไฟฟ้าโดยปกติจะมีอายุใช้งานมากกว่า 20 ปี การพิสูจน์ประสิทธิภาพของ “EnPAT” จำเป็นต้องใช้เวลาทดสอบที่ยาวนาน ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจึงออกแบบการทดสอบในสภาวะเร่ง โดยจำลองสภาวะการใช้งานที่หม้อแปลงไฟฟ้าต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เพื่อศึกษาการเสื่อมสภาพของน้ำมันและวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในหม้อแปลงไฟฟ้า ผลการทดสอบพบว่ากระดาษฉนวนภายในหม้อแปลงไฟฟ้าที่บรรจุ EnPAT เมื่อผ่านการทดสอบในสภาวะเร่งแล้วกระดาษฉนวนยังคงอยู่ในสภาพที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับกระดาษฉนวนในหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุน้ำมันแร่ที่แสดงการเสื่อมสภาพค่อนข้างมาก ทั้งนี้การเสื่อมสภาพของกระดาษฉนวนสามารถสื่อถึงอายุการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้า โดยผลการศึกษาบ่งชี้ว่า “EnPAT” สามารถใช้ทดแทนน้ำมันแร่ในหม้อแปลงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวโน้มที่จะช่วยยืดอายุหม้อแปลงไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย
โครงการนำร่องการใช้งานจริงของ “EnPAT” เริ่มดำเนินการในปี 2567 โดยได้ทำการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ “EnPAT” ในพื้นที่ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2567 ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และมีกำหนดการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ “EnPAT” ในพื้นที่ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปลายปี 2567 โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร 8 องค์กร ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทเจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยผลการนำร่องการใช้งานนี้จะใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการขยายผลการใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ต่อไป
“ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูง แต่หากเราผลิตได้เองภายในประเทศ จะทำให้มีต้นทุนต่ำลง ที่สำคัญ “EnPAT” ผลิตจากน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล การนำน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้และยกระดับผลผลิตทางการเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในอุตสาหกรรมด้านโอลิโอเคมี ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่น้ำมันปาล์มได้หลายเท่า ส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและภาพรวมของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศ” ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว
EnPAT นวัตกรรมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย ผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยและช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศให้มีศักยภาพในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างและผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และสอดรับกับนโยบายของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065
เรียบเรียงโดย วีณา ยศวังใจ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.