หน้าแรก FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด
FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด
2 ธ.ค. 2565
0
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2022/foode%E2%80%99-care-food-wash-disinfectant-for-removing-chemical-residues-and-pathogens.html

 

การจัดการสุขอนามัยถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เพราะทั่วโลกมีผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียจากการติดโรคในระบบทางเดินอาหาร อาทิ ‘โรคอหิวาตกโรค’ จากการติดเชื้อ Vibrio cholera ‘โรคไทฟอยด์’ จากการติดเชื้อ Salmonella typhosa และ ‘โรคอุจจาระร่วง’ จากการติดเชื้อ E. coli และ Listeria มากกว่า 1 ล้านราย โดยจากจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในประเทศไทยมากถึง 120,000 ราย ซึ่งนอกจากเชื้อก่อโรคข้างต้นแล้ว ยังมีเชื้ออื่นๆ อีกมากมายที่สามารถปนเปื้อนไปกับอาหารสดในขั้นตอนการผลิตและขนส่งได้ ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดหนักอย่างในปัจจุบัน

ทั้งนี้นอกจากการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคแล้ว การปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดและควบคุมศัตรูพืชที่อาจตกค้างในพืชผักก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคควรพึงระวังเช่นกัน เพราะสารพิษกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ออร์กาโนคลอรีน คาร์บาเมต และไพรีทอยด์ สามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ยับยั้งกระบวนการสร้างเอนไซม์และเมตาบอลิซึมในร่างกาย ทำให้ผู้บริโภคเจ็บป่วยและมีความร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นแล้วผู้บริโภคควรป้องกันตนเองโดยเลือกรับประทานอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ รวมไปถึงการล้างอาหารสดให้สะอาดหรือปรุงให้สุกก่อนการบริโภค

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) เปิดตัวเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างอาหารสดคุณภาพสูง “FOODe’ care” บนเวที Investment Pitching ภายในงาน APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show 2022) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด
ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล นักวิจัยกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ เอ็นเทค สวทช.

 

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

 

ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล นักวิจัยกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ เอ็นเทค สวทช. เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้มาจากช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำยาฆ่าเชื้อจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทีมวิจัยจึงได้พัฒนานวัตกรรม ‘ENcase’ เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีไฟฟ้าเคมี โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้ส่งมอบ ENcase เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สถานพยาบาล 10 แห่ง ใน 4 จังหวัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

 

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

 

“หลังจากนั้นทีมวิจัยได้คิดต่อยอดนำ ‘กรดไฮโปคลอรัส (Hypochlorous acid: HOCl)’ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผลิตจากเครื่อง ENcase มาปรับสูตรความเข้มข้นให้เหมาะแก่การฆ่าเชื้อบนผิวสัมผัสอาหารสด อาทิ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เพื่อชำระล้างสารเคมีตกค้าง ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สปอร์ของแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา โดยได้เปิดตัวในชื่อผลิตภัณฑ์ FOODe’ care ผลิตภัณฑ์นี้จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาผลิตภัณฑ์ล้างอาหารสดประสิทธิภาพสูงที่ทำจากสารจากธรรมชาติ ซึ่งมีเพิ่มสูงขึ้นมากในปัจจุบัน เพราะการล้างผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ด้วยวิธีดั้งเดิม อย่างการล้างด้วยน้ำเปล่า ลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้เพียงร้อยละ 25 (ระดับน้อย) ส่วนการล้างด้วยสารเคมีทั่วไปในครัวเรือน เช่น ผงฟู ด่างทับทิม หรือน้ำส้มสายชู แม้จะลดปริมาณสารตกค้างได้ดีขึ้นเป็นร้อยละ 40-67 (ระดับดี) แต่ก็อาจทำให้อาหารมีรสชาติและสีที่เปลี่ยนแปลงไปได้

 

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

 

จุดแข็งของผลิตภัณฑ์ FOODe’ care

1) เป็นสารธรรมชาติที่ปราศจากแอลกอฮอล์และสารเคมีที่เป็นพิษ โดยมีกรดไฮโปคลอรัส (Hypochlolorous acid: HOCl) เป็นองค์ประกอบหลัก

2) มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารเคมีตกค้าง ฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคสำคัญบนพื้นผิวได้มากกว่า 99.9% โดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายภายหลังชะล้างด้วยน้ำสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3) ใช้กับผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยไม่ทำให้เสียรสชาติและสารอาหารที่สำคัญ

4) ผลิตภัณฑ์ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานทดสอบ ASTM E1053-20 และ AOAC (955.14, 955.15, 955.17, 964.02)

5) กรดไฮโปคลอรัส (Hypochlolorous acid: HOCl) ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยสำหรับฆ่าเชื้อในอาหารและพื้นผิวที่สัมผัสอาหาร จากหน่วยงาน U.S. Environmental Protection Agency (EPA) และ Food and Drug Administration (FDA) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี

 

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

 

แม้กรดไฮโปคลอรัสจะเป็นสารที่นำมาใช้ล้างทำความสะอาดอาหารสด โดยเฉพาะอาหารที่เสิร์ฟโดยไม่ผ่านความร้อน เช่น ปลาดิบ สลัด เป็นปกติอยู่แล้วในบางประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยผลิตภัณฑ์ชำระล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสดที่มีกรดไฮโปคลอรัสเป็นส่วนประกอบหลักยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากยังไม่มีผู้ผลิตภายในประเทศ ส่งผลให้ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ผลิตภัณฑ์จึงมีราคาสูง อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คนไทยจะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น เมื่อทีมวิจัยเอ็นเทค สวทช. พร้อมแล้วที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ENcase” เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ และ “FOODe’ care” ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด ให้แก่ผู้ประกอบการไทย

ดร.สมศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นว่า เครื่อง ENcase ผลิต ‘กรดไฮโปคลอรัส’ ขึ้นจากสารตั้งต้นที่มีราคาถูก อย่างน้ำและเกลือได้มากถึง 50 ลิตรต่อชั่วโมง ผู้ประกอบการสามารถนำสารนี้มาเจือจางเพื่อล้างอาหารสดและทำความสะอาดพื้นผิวสถานที่ประกอบอาหารในระดับอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารและลดต้นทุนในการผลิต ส่วนผลิตภัณฑ์ “FOODe’ care” ที่ผลิตจากเครื่อง ENcase จะเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงน้ำยาล้างอาหารสดคุณภาพสูงในราคาที่จับต้องได้

 

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

 

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

FOODe’ care นวัตกรรมน้ำยาล้างสารเคมีตกค้างและฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหารสด

 

“ตลาดของนวัตกรรมประเภทนี้มีโอกาสเติบโตสูงทั้งในรูปแบบ B2B (การค้าระหว่างธุรกิจทำกับธุรกิจด้วยกัน) และ B2C (การค้าระหว่างเจ้าของธุรกิจและผู้บริโภครายบุคคล) จากการวิจัยคาดว่าตลาดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคประเภทนี้ในไทยมีโอกาสเติบโตไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2568” ดร.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือร่วมลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ นางสาวปภาวี ลิขิตเดชาโรจน์ (ฝ่ายประสานพันธมิตร) โทร 0 2564 6500 ต่อ 4306 Email: papawee.lik@entec.or.th

 

BCG Economy Model


เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ และวีรวรรณ เจริญทรัพย์ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.

แชร์หน้านี้: