For English-version news, please visit : Hom Siam: A new fragrant rice variety
ต้นเตี้ย ผลผลิตสูง ต้านทานโรค เก็บเกี่ยวง่าย คือลักษณะเด่นของ “ข้าวหอมสยาม” ข้าวเจ้านาปีพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาพันธุ์โดยทีมนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวหอมต้นเตี้ยทนแล้ง ต้านทานต่อโรคใบไหม้และโรคไหม้คอรวงได้ดี ช่วยลดการใช้สารเคมี ที่สำคัญเมื่อหุงสุกแล้วข้าวสวยมีความหอม นุ่ม อร่อยเทียบเคียงข้าวหอมมะลิ ตอบโจทย์ทั้งเกษตรกร โรงสี และผู้บริโภค ช่วยยกระดับการผลิตและการส่งออกข้าวไทยในอนาคต
พัฒนาพันธุ์ 10 ปี ได้ข้าวหอม นุ่ม สู้โรคภัย ให้ผลผลิตสูง
ดร.โจนาลิซา แอล เซี่ยงหลิว นักวิจัยไบโอเทค ผู้พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมสยาม เปิดเผยว่าทีมวิจัยใช้เวลากว่า 10 ปีในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมให้มีความทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพการหุงต้มดีเหมือนข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์แบบผสมกลับร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอช่วยในการคัดเลือก ระหว่างข้าวสายพันธุ์แม่ “RGD03068-2-9-1-B (RGD03068)” ซึ่งเป็นข้าวเจ้าหอมนุ่มที่มีลักษณะทนแล้ง กับข้าวสายพันธุ์พ่อ “แก้วเกษตร” ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานต่อโรคไหม้ ทรงกอตั้ง จนกระทั่งได้พันธุ์ข้าวหอมสยามในที่สุด
“ข้าวหอมสยามมีคุณลักษณะเด่น 3 ประการ หนึ่ง เราพัฒนาให้ความสูงของต้นข้าวมีลักษณะเตี้ยลง ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ปกติมีความสูงที่ประมาณ 150 เซนติเมตร มีปัญหาหักล้มง่าย สร้างความเสียหายต่อผลผลิต แต่เราทำให้ข้าวหอมสยามมีความสูงลดลงเหลือ 120 เซนติเมตร และมีลำต้นแข็งแรง เพื่อให้ทนทานต่อการหักล้ม สอง ความต้านทานต่อโรคไหม้ ซึ่งปกติแล้วข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 อ่อนแอต่อโรคไหม้ แต่เราพัฒนาข้าวหอมสยามให้ต้านทานต่อโรคไหม้ และสาม เราทำให้ข้าวหอมสยามมีผลผลิตสูง สูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105ประมาณ 2 เท่า ซึ่งปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากการแตกกอดีของข้าวหอมสยามเมื่อเทียบกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้วก็มีจำนวนเมล็ดต่อรวงมากกว่าด้วย นอกจากนี้ข้าวหอมสยามยังมีระบบรากลึก สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อย จึงเหมาะสมสำหรับพื้นที่ปลูกข้าวอาศัยน้ำฝนซึ่งมักประสบปัญหาน้ำแล้ง”
พันธุ์ข้าวดี เกษตรกรยอมรับ โรงสีรับซื้อ
ในปี 2563 ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรของบริษัทบางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด นำพันธุ์ข้าวหอมสยามไปปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีสะเกษ ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 530 กิโลกรัมต่อไร่ (ความชื้น 14%) สูงกว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 2.1 เท่าที่ปลูกในแปลงเดียวกัน ต่อมาในปี 2564 ได้มีการขยายผลการปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร จ.นครพนม จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.มหาสารคาม และ จ.บุรีรัมย์ รวมพื้นที่ 21 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมทดสอบพันธุ์ จำนวน 31 คน
ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา ผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงพันธุ์และทดสอบพันธุ์ข้าวในแปลงนาโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม กล่าวว่า พันธุ์ข้าวหอมสยาม ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวหอมต้นเตี้ย ผลผลิตสูง ลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทำให้ลดการสูญเสียผลผลิตจากการหักล้ม และลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยว คุณสมบัติเด่นอีกประการของข้าวหอมสยามคือมีความต้านทานต่อโรคใบไหม้และโรคไหม้คอรวงได้ดีเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข15 เป็นการลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรค
“พอเราได้พันธุ์แล้ว เรายังไม่เรียกว่าสำเร็จ ความสำเร็จต้องอยู่ที่การยอมรับของผู้ประกอบการโรงสี ผู้ค้าข้าว เกษตรกร และเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นได้อย่างดีจริง ซึ่งข้าวหอมสยามก็ได้พิสูจน์แล้ว โดยผ่านกระบวนการทดสอบในเชิงวิจัยมา 2 ปีก่อนหน้า และก็เข้าสู่กระบวนการทดสอบในแปลงเกษตรกรทั้งหมด 31 แปลง 12 จังหวัด ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การปรับปรุงพันธุ์จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเกษตรกรยอมรับ และเมื่อเกษตรกรยอมรับแล้วนั้นก็ต้องส่งต่อให้กับผู้ประกอบการ โรงสี และกระบวนการทางการตลาด เพราะฉะนั้นพันธุ์ข้าวที่ดีต้องให้ประโยชน์ต่อชาวนาได้ แล้วต้องส่งต่อให้กับภาคอุตสาหกรรม ส่งต่อให้กับประเทศได้”
“หอมสยาม” ความหวังของชาวนาและประเทศไทย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ข้าวไทย” มีชื่อเสียงและคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ซึ่งมีรางวัลการันตีหลายปีต่อเนื่องว่าเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลกจากการประกวดข้าวโลก (World’s Best Rice Award) แต่สถานการณ์การผลิตและส่งออกข้าวไทยกลับไม่เป็นดังหวัง เพราะปัญหาภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ข้าวไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และหัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของ ไบโอเทค กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤตของข้าวไทย การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมนุ่ม ผลผลิตสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทีมวิจัยได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ “หอมสยาม” ที่มีคุณภาพการหุงต้มใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ผลผลิตสูง ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ยทนการหักล้ม ปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อย ลำต้นแข็ง ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่ใช้เครื่องจักรมากขึ้น
“เราต้องการให้มีข้าวที่ตอบโจทย์ประเทศ คือข้าวที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง เพื่อแข่งขันได้ เรารู้จักข้าวขาวดอกมะลิ เรายอมรับว่านี่คือข้าวคุณภาพดีที่หนึ่ง เราก็อยากได้ข้าวที่เหมือนขาวดอกมะลิ แต่ว่าไม่ล้มได้มั้ย ผลผลิตสูงได้มั้ย ใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวได้มั้ย ต้านทานโรคไหม้ได้มั้ย นั่นคือเป้าหมายที่เราพัฒนาข้าวหอมสยาม เพื่อแก้ประเด็นปัญหาของพันธุ์ข้าวดีที่เรามีอยู่ ในเรื่องของคุณภาพ เรามีพันธุ์ข้าวคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่ลดปัญหาความเสียหายจากโรค การหักล้ม และเหมาะสำหรับการทำเกษตรสมัยใหม่”
ปัจจุบันทาง ไบโอเทค สวทช. ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 กับกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว โดยข้าวพันธุ์หอมสยามนี้ จะเป็นข้าวหอมไทยคุณภาพอีกพันธุ์หนึ่งที่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการข้าวหอมคุณภาพดีในราคาที่ไม่สูงเกินไป สามารถแข่งขันในตลาดได้ ทั้งยังช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจชุมชมเข้มแข็ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี