โดยทั่วไปหากไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัวไว้ใช้งาน หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภาคอีสานก็คือ ‘สกายแล็บ (Skylab)’ รถสามล้อเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้เดินทางสะดวก รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 7 คน หรือจะปรับมาใช้ขนส่งสินค้า อาทิ ผลิตผลทางการเกษตรก็คล่องตัวเช่นกัน แต่ในวันนี้วันที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อนในระยะที่ยากจะหวนกลับคืน สิ่งที่แต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องตระหนักและช่วยกันอย่างเร่งด่วน คือ ลดการปล่อยมลพิษ สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี จึงลุกขึ้นเป็นตัวแทนคนในจังหวัดเดินหน้าพัฒนาแซนด์บ็อกซ์ (sand box) ขนส่งสายกรีน โดยเริ่มจากพัฒนาสามล้อไฟฟ้าที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของสกายแล็บแต่เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี พัฒนาต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
‘KHamKoon’ ยกระดับความปลอดภัย เพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
‘ยานยนต์สมัยใหม่ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ คือ ความต้องการของคนจังหวัดอุดรธานีที่เป็นโจทย์ในการดำเนินงานให้กับทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. นักวิจัยจึงได้ดำเนินภารกิจครั้งนี้โดยเลือกใช้สกายแล็บเป็นโจทย์ตั้งต้น เพื่อคงไว้ซึ่งภาพจำของคนในจังหวัด รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยได้ร่วมกันตั้งชื่อให้กับสามล้อไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ว่า ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’
ดร.วัลลภ รัตนถาวร ทีมวิจัยเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่ง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าว่า รถสามล้อทั่วไปจะมีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ใกล้กับล้อหน้า เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วจะเกิดการสไลด์ ล้อยก หรือพลิกคว่ำได้ง่าย ทีมวิจัยจึงได้นำความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ออกแบบ ‘การเพิ่มเสถียรภาพในการเข้าโค้งให้แก่รถ’ โดยเทคโนโลยีเฉพาะที่พัฒนาขึ้น คือ ‘มอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนที่ควบคุมล้อแต่ละล้อได้อย่างอิสระตามสถานการณ์การขับขี่แบบอัตโนมัติ’ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้งานพบว่า ผู้ขับขี่สามารถขับต้นแบบรถ KHamKoon แล้วกลับรถหรือเปลี่ยนทิศทางรถอย่างรวดเร็ว (J-turn) ที่ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย ตรงตาม มอก.3264-2564 ที่เป็นมาตรฐานสากล หรือมีความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้นกว่าเดิม
“ส่วนด้านโครงสร้างรถทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์โครงสร้างซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยเดียวกันได้ดำเนินการออกแบบใหม่โดยปรับแต่งให้เป็นรถที่คงไว้ซึ่งลักษณะเค้าโครงเดิมของสกายแล็บ แต่มีความแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยได้ใช้หลักการ finite element analysis หรือการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสร้างแบบจำลองยานยนต์ด้วยเทคโนโลยี simulation จนได้เป็นผลงานการออกแบบ ‘โครงสร้างรถที่มีศักยภาพในการเป็นเกราะเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร’ ส่วนประเด็นสุดท้ายด้านการเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากระบบสันดาปภายใน ให้เป็นระบบไฟฟ้า (EV) โดย KHamKoon ผ่านการออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่ความจุ 12 kWh เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้วิ่งได้ระยะทาง 120-150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง การชาร์จแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ใช้แท่นชาร์จ AC type 2 ที่มีให้บริการทั่วไปในปัจจุบันได้ และสามารถปรับการผลิตรถให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้นและใช้รูปแบบการชาร์จแบบเร็ว (fast charge) ได้ หากมีความต้องการในอนาคต ปัจจุบันทีมวิจัยได้ส่งมอบต้นแบบรถ KHamKoon คันแรกให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีแล้ว”
คนอุดรฯ พร้อมลุยต่อกับ ‘แซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน’
การจะลงทุนปรับเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะในระดับจังหวัดไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี ในฐานะตัวแทนของประชาชนในจังหวัด จึงได้เป็นแกนนำในการนำร่องวางแผนจัดทำแซนด์บ็อกซ์ระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คุณอนุพงศ์ มกรานุรักษ์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี อธิบายว่า การดำเนินงานความร่วมมือในการพัฒนารถ KHamKoon ร่วมกับเอ็มเทค สวทช. สภาอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะนำต้นแบบรถ KHamKoon มาใช้ในการทำแซนด์บ็อกซ์ขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสิ่งที่ทางสภาอุตสาหกรรมได้ดำเนินงานคู่ขนานไปกับการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเอ็มเทคตั้งแต่เริ่มต้นก็คือการวางกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนแผนงานนี้ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ภารกิจแรกภายใต้แซนด์บ็อกซ์ที่กำลังจะเริ่มทดลองใน 1-2 เดือนนี้แล้ว คือ การนำ KHamKoon ไปให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีและรับส่งระหว่างโรงพยาบาลกับที่จอดรถซึ่งอยู่ห่างออกไป 1-2 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดภายในสถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบ
“สิ่งที่กำลังพัฒนาหรืออยู่ในแผนการพัฒนาแล้ว คือ การเตรียมความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่จุดจอดให้บริการรถ สถานีชาร์จ แอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถ เพื่อให้ทั้งการให้บริการและการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดเป็นเรื่องง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้นต่อไป ส่วนอีกด้านที่มีแผนจะพัฒนาแล้วเช่นกัน คือ การพัฒนากำลังคนภายในจังหวัดด้วยการ ‘อัปสกิล (upskill)’ หรือ ‘รีสกิล (reskill)’ ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผลิตและซ่อมบำรุงรถ EV โดยรถ KHamKoon ผ่านการออกแบบภายใต้แนวคิดคนในจังหวัดจะต้องผลิตและซ่อมบำรุงได้ด้วยตัวเองตั้งแต่แรกเช่นกัน เพื่อให้เมื่อผ่านการพัฒนาไปถึงระดับพาณิชย์ KHamKoon จะมีราคาที่จับต้องได้ และพร้อมแก่การใช้งานจริงในระยะยาว ทั้งนี้การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในจังหวัดตั้งแต่วันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ยุค EV เป็นยานยนต์ประเภทหลักของประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการดิสรัปต์อาชีพต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว”
การวางแผนกลยุทธ์ตลอดห่วงโซ่ผลกระทบ (impact value chain) อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น และการที่ทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในจังหวัด รวมถึงภาคการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ต่างก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานหลัก ทำให้ในวันนี้คำว่าสมาร์ตโมบิลิตี (smart mobility) หรือการเดินทางและระบบขนส่งอัจฉริยะสำหรับคนอุดรธานีไม่ใช่เพียงภาพฝัน แต่เริ่มมีเส้นทางสู่ความสำเร็จปรากฏให้เห็นแล้ว
นายอนุพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะทำงานทุกคนต่างคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานแซนด์บ็อกซ์นี้จนประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อให้จังหวัดอุดรธานีมีระบบสมาร์ตโมบิลิตีที่ยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตรถ KHamKoon ได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. โทร 0 2564 6500 ต่อ 4065 หรืออีเมล wallop.rat@mtec.or.th และติดต่อเพื่อร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัดอุดรธานีได้ที่ สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ shutterstock