หน้าแรก ‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว
‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว
19 ธ.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

 

รู้หรือไม่ ทุกวันนี้นอกจากคนรุ่นใหม่จะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี AI และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว การเรียนรู้วิธีสร้างโมเดล AI เพื่อประมวลผลข้อมูลก็ขยับเข้ามาเป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าของประเทศไทยแล้วด้วย เพราะการที่เยาวชนมีทักษะความรู้ด้านนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเฉพาะทางในระดับชั้นที่สูงขึ้น แต่ยังช่วยฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ฝึกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการทำงานหรือการแก้ไขปัญหา และยังเป็นการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนจำเป็นต่อการทำงานในทุกสายอาชีพและการใช้ชีวิต

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา ‘KidBright μAI (คิดไบรท์ ไมโครเอไอ) แพลตฟอร์มสำหรับให้เยาวชนใช้ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI  และอุปกรณ์ AIoT (Artificial Intelligence of Things) แบบครบจบในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อการเรียนรู้ที่เป็นระบบ ง่าย และสนุก

 

‘KidBright μAI’ เรียนรู้วิธีสร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT อย่างเป็นระบบ
‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว
ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เนคเทค สวทช.

ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย เนคเทค สวทช. อธิบายว่า แพลตฟอร์ม KidBright μAI ประกอบด้วยสองส่วนหลัก ส่วนแรกคือบอร์ดสมองกลฝังตัวทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ AIoT และส่วนที่สองคือเว็บแอปพลิเคชัน KidBright μAI IDE โดยตัวบอร์ดจะมาพร้อมอุปกรณ์รับสัญญาณภาพและเสียง ตัวรับสัญญาณไวไฟ อุปกรณ์แสดงผลข้อมูลอย่างจอและลำโพง และพอร์ตสำหรับต่อเซนเซอร์จากภายนอก โดยผู้เรียนจะใช้งานบอร์ดตัวนี้ร่วมกันเว็บแอปพลิเคชัน KidBright μAI IDE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับสร้างโมเดล AI และเขียนโค้ดเพื่อสั่งการทำงาน ปัจจุบัน KidBright μAI IDE ใช้สร้างโมเดล AI ได้ 3 ประเภท คือ ‘image classification’ จำแนกประเภทวัตถุภายในภาพ ‘object detection’ ระบุตำแหน่งวัตถุภาพในภาพ และ ‘voice classification’ ระบุคำสั่งเสียง ซึ่งโมเดลเหล่านี้ล้วนมีการใช้ประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น สมาร์ตโฟน ยานยนต์ การแพทย์ รวมถึงนำไปใช้ควบคุมสายการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย

 

‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว

 

การฝึกสร้างโมเดล AI ด้วย KidBright μAI IDE ทำได้ง่ายเพียง 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกให้จัดเก็บข้อมูลภาพหรือเสียง ด้วยกล้องและไมโครโฟนที่ติดมากับบอร์ด KidBright μAI หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ผู้เรียนมี ขั้นตอนที่สองติดป้ายกำกับเพื่อระบุประเภทของข้อมูล ขั้นตอนที่สามกดสั่งการให้ระบบเทรน AI แบบอัตโนมัติ เพียงเท่านี้ก็จะได้โมเดล AI มาใช้งานแล้ว หลังจากนั้นผู้เรียนสามารถนำโมเดลไปประยุกต์ใช้สั่งการทำงานบอร์ด KidBright μAI ได้โดยการเขียนโค้ดด้วยชุดคำสั่งแบบบล็อก (Blockly) เพื่อให้บอร์ดประมวลผลและทำงานตามที่กำหนด เช่น หากผู้เรียนเทรนให้โมเดล AI แยกวัตถุในภาพว่าเป็นสุนัขหรือแมว ก็อาจนำไปเขียนโค้ดสั่งการทำงานต่อว่าหากกล้องของบอร์ดจับภาพสุนัขได้ให้เล่นเสียงโฮ่งเลียนแบบเสียงสุนัขออกมาทางลำโพง แต่หากจับภาพแมวได้ให้เล่นเสียงเหมียวแทน”

 

‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว

 

จุดเด่นของแพลตฟอร์ม KidBright μAI คือ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตโมเดล AI และเขียนโค้ดเพื่อสั่งการทำงานอุปกรณ์ AIoT แบบครบทุกขั้นตอนด้วยแพลตฟอร์มเดียว ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นระบบและต่อเนื่อง ใช้เวลาในการเรียนรู้สั้น ที่สำคัญคือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวมให้แก่สถาบันการศึกษาหรือผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หากผู้เรียนไม่มีบอร์ด KidBright μAI ก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ทุกขั้นตอนได้ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน KidBright AI ซึ่งภายในแอปพลิเคชันจะมีระบบจำลองสถานการณ์ (simulation) ที่มีหุ่นยนต์ น้องขนมชั้น รอรับคำสั่งและแสดงผลให้ผู้เรียนได้เห็น ทดแทนการแสดงผลโดยบอร์ด KidBright μAI ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนไทยเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งอนาคตได้อย่างทั่วถึง

 

‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว
บอร์ด KidBright μAI

‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว

รวมพลสร้างคนรุ่นใหม่เชี่ยวชาญ AI

ดร.เสาวลักษณ์ เล่าว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ KidBright (เทคโนโลยี KidBright Coding และ KidBright μAI) ทีมวิจัยและพันธมิตรได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการจัดกระบวนการสอนให้แก่ครูและอาจารย์ไปแล้วมากกว่า 10,000 คน จากมากกว่า 7,000 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และมีนักเรียนเข้าใช้งานแพลตฟอร์มแล้วมากกว่า 1 ล้านครั้ง ตัวอย่างการนำ KidBright μAI ไปใช้จัดกิจกรรมให้แก่เยาวชน เช่น ในงานรวมพลคน KidBright ที่ผ่านมาได้จัดการแข่งขันให้เยาวชนพัฒนาโมเดล AI และเขียนโค้ดเพื่อสร้างระบบอัตโนมัติที่มีส่วนประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ การจัดกิจกรรมครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AIoT ในการแก้ไขปัญหาโจทย์จริง ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนานและเป็นกันเอง และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ร่วมกันกับเพื่อนและอาจารย์จากต่างสถาบันการศึกษา ​รวมถึงนักวิจัยผู้พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

 

‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว

 

“การที่แพลตฟอร์ม KidBright ขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเป็นผลมาจากการได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมมาโดยตลอด ทั้งด้านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและการจัดอบรม การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตบอร์ด KidBright μAI เพื่อให้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ได้ทันความต้องการของทั้งครู อาจารย์ และนักเรียนจากทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีเมกเกอร์ภายในประเทศไทยและบุคลากรจากสถานบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมนำ open source ของแพลตฟอร์มไปใช้พัฒนาฟังก์ชันเสริม เพื่อให้เยาวชนได้มีเครื่องมือสำหรับเรียนรู้และพัฒนาระบบอัตโนมัติที่มีฟังก์ชันการทำงานหลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้อีกส่วนที่ขาดไม่ได้เลยคือการสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อให้โอกาสทางการเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เพียงผู้ที่มีความพร้อมเท่านั้น” ดร.เสาวลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

‘KidBright μAI’ ฝึกเขียนโค้ด สร้างโมเดล AI และอุปกรณ์ AIoT ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว

 

แพลตฟอร์ม KidBright คือหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการสร้างรากฐานของประเทศ เพราะการที่เยาวชนได้เรียนรู้เทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้น จะช่วยให้พวกเขาต่อยอดการเรียนรู้สู่ช่วงชั้นที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ถือเป็นการลงทุนที่จะออกดอกออกผลต่อไปในระยะยาว และทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านบุคลากรซึ่งเป็นแต้มต่อสำคัญของการแข่งขันในเวทีโลก สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kid-bright.org

 


ผู้ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม KidBright μAI
  • กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สนับสนุนด้านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้และการจัดอบรม
  • หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายผลการใช้งานแพลตฟอร์มให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด
  • เมกเกอร์ภายในประเทศไทย เช่น เชียงใหม่เมกเกอร์ ขอนแก่นเมกเกอร์ สมาคมเมกเกอร์ประเทศไทย รวมไปถึงมหาวิทยาลัยเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาคกลาง) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มหาวิทยาลัยศิลปากร (ภาคตะวันตก) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ภาคใต้) ร่วมนำ open source ของแพลตฟอร์มไปพัฒนาฟังก์ชันเสริมใหม่ ๆ เพื่อให้เยาวชนมีเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้และนำไปใช้พัฒนาระบบอัตโนมัติที่มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนการขยายผลการใช้งานแพลตฟอร์มเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาของเยาวชนไทยทั่วประเทศ
  • ครูและอาจารย์พันธมิตรจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สนับสนุนการนำแพลตฟอร์มไปใช้จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในสังกัด และช่วยพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทั้งวิธีการใช้งานแพลตฟอร์ม เทคนิคการสร้างโมเดล AI และเทคนิคการเขียนโค้ดเพื่อสั่งการอุปกรณ์ AIoT สำหรับเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้คนในชุมชนได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
  • บริษัทอินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด สนับสนุนผ่านการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตบอร์ด KidBright Coding และ KidBright μAI จำหน่ายภายใต้แบรนด์ INEX เพื่อให้ผู้ที่สนใจใช้งานเข้าถึงเทคโนโลยีได้สะดวกยิ่งขึ้น

 


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย เนคเทค สวทช. และ ภัทรา สัปปินันทน์

แชร์หน้านี้: