ปัจจุบันโซลาร์เซลล์ได้รับความนิยมในการใช้งานตามบ้านเรือนอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟได้แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามโซลาร์เซลล์มาตรฐานที่ผลิตและจำหน่ายทั่วไปยังมีจุดอ่อนสำคัญด้านรูปลักษณ์ที่มีลักษณะเป็น ‘แผงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ทึบแสง ต้องใช้โครงเหล็กขนาดใหญ่แข็งแรงสูงในการรับน้ำหนัก’ ส่งผลให้การออกแบบติดตั้งแผงทำได้ไม่หลากหลาย การจัดวางให้สวยงามกลมกลืนกับอาคาร บ้านเรือน หรือสภาพแวดล้อมทำได้ลำบาก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา ‘Mesh PV (เมช พีวี)’ แผงโซลาร์เซลล์เสริมความแข็งแรงด้วยชั้นรองรับน้ำหนักแบบใหม่ เพื่อประยุกต์ใช้กับงานอาคารและยานพาหนะ
ว่าที่ร้อยตรี นพดล สิทธิพล ทีมวิจัยเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ เอ็นเทค สวทช. อธิบายว่า แท้จริงแล้วอุปสรรคด้านรูปลักษณ์ของแผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้มาจากเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้า แต่มาจากกรอบโลหะที่ใช้ยึดติดองค์ประกอบของแผงเข้าด้วยกัน เพราะกรอบซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักของแผงจะต้องรับน้ำหนักได้มาก แข็งแรง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง
“ทีมวิจัยจึงได้ออกแบบโครงสร้างสำหรับยึดองค์ประกอบแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นใหม่ ให้มีลักษณะเป็นตาข่าย (mesh) ชนิดพิเศษที่รับน้ำหนักได้มาก มีความแข็งแรงและทนทานต่อสภาพแวดล้อมในระดับทัดเทียมกับโครงสร้างที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไป ใช้เสริมความแข็งแรงให้แผงโซลาร์เซลล์ได้หลายประเภท ทั้งแบบโปร่งแสงและทึบแสง แบบโค้งงอได้และแบบโค้งงอไม่ได้ และสามารถผลิตสีของตาข่ายให้กลมกลืนกับพื้นที่ที่จะติดตั้งได้อีกด้วย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ Mesh PV อยู่ระหว่างขอความคุ้มครองสิทธิกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา”
Mesh PV เหมาะกับการใช้งานทั้งกับบ้านเรือนและอาคารสูงที่ต้องรองรับแรงกระแทกจากกระแสลมรุนแรง โดยติดตั้งได้ทั้งบนดาดฟ้า ลานกลางแจ้ง หรือจะประยุกต์ใช้เป็นหลังคาทรงโค้งบริเวณแนวทางเดิน กันสาด หรือหน้าต่างบานกระทุ้งก็ได้เช่นกัน โดยหากมองไปถึงการเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าให้แก่ยานยนต์ Mesh PV ก็เหมาะอย่างยิ่งกับ camper van หรือรถบ้านสำหรับทำกิจกรรมตั้งแคมป์ และ
ฟูดทรัก (food truck) ที่ผู้ใช้งานต้องใช้ไฟฟ้าในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ว่าที่ร้อยตรี นพดล อธิบายต่อว่า ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Mesh PV ประสบความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว อยู่ในขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพความแข็งแรงคงทนของผลิตภัณฑ์ในภาคสนามและการทดสอบตามมาตรฐาน IEC61215 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะทดสอบแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยหากการทดสอบประสบความสำเร็จก็พร้อมเปิดถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ต่อทันที แต่หากมีผู้ประกอบการท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์ Mesh PV สามารถติดต่อเพื่อร่วมวางแผนการวิจัยผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ก่อนได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินงานวิจัย และเพิ่มโอกาสผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาดที่กำลังมีความต้องการสูง
“ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จำหน่ายอยู่เดิมและสนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต Mesh PV ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก ไม่ต้องเป็นกังวลเลยว่าจะต้องปรับเปลี่ยนสายการผลิตใหม่ หรือไม่สามารถสั่งผลิตภายในประเทศได้ เพราะเทคโนโลยีการผลิต Mesh PV ผ่านการออกแบบให้มีขั้นตอนการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และวัสดุที่ใช้ในการผลิตทั้งหมดหาได้สะดวกภายในประเทศไทย” ว่าที่ร้อยตรี นพดล กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) เบอร์โทรศัพท์: 0 2564 6500 หรืออีเมล info@entec.or.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และเอ็นเทค สวทช.