หน้าแรก ‘ถุงมือยางไนไตรล์’ ปราศจากสารก่ออาการแพ้ ใส่สบาย ใช้ได้หลากหลาย
‘ถุงมือยางไนไตรล์’ ปราศจากสารก่ออาการแพ้ ใส่สบาย ใช้ได้หลากหลาย
31 ต.ค. 2567
0
BCG
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

ถุงมือยางไนไตรล์’ ปราศจากสารก่ออาการแพ้ สวมใส่สบาย ใช้งานได้หลากหลาย

 

ถุงมือยางไนไตรล์ (nitrile gloves) เป็นถุงมือยางสังเคราะห์ที่มีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้งานมากกว่า 2 แสนล้านชิ้นต่อปี เพราะถุงมือยางชนิดนี้มีคุณสมบัติเด่นที่เหนือกว่าถุงมือยางธรรมชาติในด้านการทนทานต่อน้ำมันและสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน อีกทั้งยังไม่มีโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตามถุงมือยางไนไตรล์ยังคงมีจุดอ่อนอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือมีความแข็งกระด้างมากกว่าถุงมือยางธรรมชาติ ทำให้หากสวมใส่เป็นระยะเวลานานอาจเกิดความเมื่อยล้า เรื่องที่สองคืออาจพบปัญหาการแพ้สารเคมีบางชนิดที่ใช้ในการผลิต โดยเฉพาะสารตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งเป็นสารสำคัญที่ต้องใช้ในขั้นตอนการผลิต

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตถุงมือยางไนไตรล์ปราศจากกำมะถันและสารตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้โปรตีนจากยางธรรมชาติและแพ้สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบในถุงมือยาง ถุงมือยางไนไตรล์ที่พัฒนาขึ้นนอกจากจะทนทานต่อน้ำมันและสารเคมีแล้ว ยังนุ่มและยืดหยุ่นสูงขึ้นกว่าเดิมจึงช่วยลดอาการเมื่อยล้าจากการสวมใส่เป็นเวลานานได้อย่างดี การพัฒนาถุงมือยางชนิดนี้มุ่งเป้าตอบโจทย์การใช้งานที่ต้องการความสะอาดและปลอดภัยสูง เช่น การแพทย์ อาหาร เครื่องสำอาง อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ห้องปฏิบัติการ รวมถึงการใช้งานทั่วไป เช่น งานทำความสะอาด ทำสวน ซ่อมรถ

 

ถุงมือยางไนไตรล์’ ปราศจากสารก่ออาการแพ้ สวมใส่สบาย ใช้งานได้หลากหลาย
ดร.พร้อมศักดิ์ สงวนธำมรงค์ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช

          ดร.พร้อมศักดิ์ สงวนธำมรงค์ นักวิจัย ทีมวิจัยกระบวนการผลิตยางขั้นสูงและมาตรฐานยาง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค สวทช. อธิบายว่างานวิจัยนี้ได้รับทุน Starting Venture 2022 จากบริษัทบีเอเอสเอฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลกจากประเทศเยอรมนี โดยงานวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกได้แก่ การพัฒนาสูตรการผลิตถุงมือยางไนไตรล์ที่ปราศจากสารก่ออาการแพ้ เช่น กำมะถัน สารตัวเร่งปฏิกิริยา แป้ง ซึ่งสารเคมีเหล่านี้เป็นสารเคมีที่จำเป็นต่อการผลิตถุงมือยางด้วยกรรมวิธีทั่วไป

ส่วนที่สองคือการหาสภาวะการผลิตที่เหมาะสม โดยศึกษาตัวแปรต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อกระบวนการจุ่มขึ้นรูปถุงมือยาง เพื่อให้ได้ถุงมือที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ส่วนสุดท้ายคือการขยายสเกลการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยงานวิจัยในขั้นตอนนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแกรนด์โกลบอลโกลฟส์ จำกัด ในการทดลองนำสูตรและกระบวนการผลิตที่พัฒนาขึ้นไปใช้ผลิตต้นแบบถุงมือยางไนไตรล์ปราศจากกำมะถันและสารตัวเร่งปฏิกิริยา พร้อมดำเนินการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพแต่ละขั้นตอนการผลิตตามเกณฑ์กำหนดของโรงงาน จากการทดลองพบว่าต้นแบบถุงมือยางไนไตรล์ที่ผลิตได้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานถุงมือยางสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียวและถุงมือยางสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร”

 

ถุงมือยางไนไตรล์’ ปราศจากสารก่ออาการแพ้ สวมใส่สบาย ใช้งานได้หลากหลาย

ถุงมือยางไนไตรล์’ ปราศจากสารก่ออาการแพ้ สวมใส่สบาย ใช้งานได้หลากหลาย

 

นอกจากจุดเด่นด้านคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถุงมือยางไนไตรล์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น นอกจากจะมีการลดปริมาณสารเคมีอันตรายลง ทีมวิจัยยังได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยปรับลดทั้งระยะเวลาที่ใช้บ่มน้ำยางและอุณหภูมิที่ใช้ในการอบถุงมือยาง ทำให้ประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในการผลิตได้ด้วย

ดร.พร้อมศักดิ์ เล่าทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตถุงมือยางไนไตรล์ปราศจากกำมะถันและสารตัวเร่งปฏิกิริยาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงเปิดรับผู้ประกอบการที่ต้องการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งคาดว่าถุงมือยางที่พัฒนาขึ้นจะวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ภายในปี พ.ศ. 2569

 

ถุงมือยางไนไตรล์’ ปราศจากสารก่ออาการแพ้ สวมใส่สบาย ใช้งานได้หลากหลาย

ทั้งนี้หากผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจขอรับต้นแบบถุงมือยางไนไตรล์ไปทดลองใช้งาน หรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่คุณเนตรชนก ปิยะฤทธิพงศ์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ โทร. 0 2564 6500 ต่อ 4301 อีเมล netchanp@mtec.or.th

 


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ shutterstock

แชร์หน้านี้: